สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยประชาชนส่วนใหญ่ 45.87% มีความเห็นต่อรายงานตัวเลข/สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 ขณะนี้ในระดับค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ รองลงมา 33.97% คิดว่ามีความน่าเชื่อถือน้อย ตามด้วย 14.13% คิดว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ และมีเพียง 6.11% ที่คิดว่ามีความน่าเชื่อถือมาก
สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ 92.01% อยากให้มีการนำเสนอคือ ชัดเจน ไม่ปกปิด บอกแหล่งอ้างอิง ที่มาของข้อมูล รองลงมา 66.77% คือมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ ตามด้วย 43.83% มีผู้รายงานหลักสื่อสารได้ดี สร้างความเข้าใจ อีก 41.06% มีข้อมูลและกราฟิกดูเข้าใจง่าย และ 40.35% นำเสนอต่อเนื่อง เป็นประจำ
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 71.84% ติดตามการรายงานตัวเลข/สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 จากโทรทัศน์ รองลงมา 70.49% ติดตามจากโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ตามมาด้วย 56.49% ติดตามจากเว็บไซต์ข่าว/แอปพลิเคชันข่าวต่างๆ 45.17% ติดตามจากการพูดคุย เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว และ 37.74% ติดตามจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)
ประชาชนส่วนใหญ่ 40.95% ใช้เวลาติดตามการรายงานตัวเลข/สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 น้อยกว่าวันละ 30 นาที รองลงมา 31.98% ใช้เวลาวันละ 1-2 ชั่วโมง อีก 13.73% ใช้เวลา 2-5 ชั่วโมง และมี 13.34% ใช้เวลาติดตาม 5 ชั่วโมงขึ้นไป
สำหรับข้อมูลที่ประชาชนส่วนใหญ่ 92.33% ให้ความสนใจคือ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตรายวัน รองลงมา 65.69% สนใจเรื่องจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ตามด้วย 60.87% สนใจเรื่องการเปรียบเทียบยอดผู้ป่วยรายใหม่และผู้ที่รักษาหาย อีก 50.75% สนใจเรื่องสถานการณ์ผู้ป่วยอาการหนัก และ 48.14% สนใจเรื่องจำนวนเตียงการรองรับผู้ป่วย
ความสำคัญของตัวเลข/สถิติดังกล่าวนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 89.29% คิดว่าจะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มระดับความรุนแรงของโควิด-19 รองลงมา 85.25% คิดว่าจะช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญ ระมัดระวังป้องกันตัวเองมากขึ้น ตามด้วย 61.93% ทำให้เข้าใจสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น อีก 61.06% คิดว่าทำให้รู้จำนวนยอดผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และ 46.23% คิดว่านำมาคำนวณ วางแผนการดำเนินชีวิต เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด-19
หลังติดตามตัวเลข/สถิติเกี่ยวกับโควิด-19 แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ 57.05% ค่อนข้างเครียดและวิตกกังวลพอสมควร รองลงมา 24.30% เครียดและวิตกกังวลมากที่สุด อีก 14.42% ไม่ค่อยเครียดและวิตกกังวล และ 4.23% ไม่เครียดและไม่วิตกกังวลเลย 4.23%
น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล กล่าวว่า การรายงานข้อมูลแบบตัวเลขและสถิติเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เพราะทำให้ประชาชนเห็นภาพรวมและเข้าใจถึงความหนัก-เบาของสถานการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสื่อสารข้อมูลตามความเป็นจริง ชัดเจน ตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
ขณะที่ นายธานินทร์ สิทธิวิรัชธรรม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ตัวเลขเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ตอนที่มนุษย์รู้จักการเทียบสิ่งของด้วยวิธีหนึ่งต่อหนึ่ง เช่น เทียบสัตว์ 1 ตัว กับนิ้วมือ 1 นิ้วหรือก้อนหิน 1 ก้อน ส่วนคำว่า สถิติ คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ซึ่งจะช่วยในการประเมินและตัดสินใจต่อสถานการณ์หรือปัญหาต่างๆ ในสภาวการณ์ปัจจุบัน หากได้รับข้อมูลตัวเลขและสถิติเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนอื่นต้องตรวจสอบแหล่งที่มาการเผยแพร่ก่อนว่าเป็น Fake News หรือไม่
"เราทุกคนต้องอย่าตื่นตระหนกแต่ให้ตระหนักอย่างมีสติ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลและปฏิบัติตนตามข้อกำหนดต่างๆ อย่างเคร่งครัด ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน และตรวจสอบได้ หากประชาชนเชื่อใจในรัฐบาลก็จะเกิดความเชื่อมั่นในนโยบาย ทำให้เชื่อถือในกฎเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้เราทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างแน่นอน" นายธานินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขและสถิติต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพรวมของสถานการณ์ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยสำรวจทางออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,270 คน ระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค.ที่ผ่านมา