นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการทดสอบระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บริเวณด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางธัญบุรี 2 (ขาออก) และอาคารชัยสวัสดิ์กิตติพรไพบูลย์ ศูนย์ควบคุมกลาง (CCB ลาดกระบัง) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ สาย 9 ) ว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์ การเชื่อมต่อกับระบบควบคุมรายการผ่านทางในระดับช่องทาง รวมไปถึงการส่งข้อมูลรถที่ผ่านทางเข้าไปยังระบบ Single Platform ที่อาคารศูนย์ควบคุมฯ เป็นไปตามแผน ซึ่งโดยรวมของระบบมีความพร้อมสำหรับการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการแล้ว โดยกรมทางหลวงมีกำหนดที่จะทดสอบระบบเสมือนจริงแบบครบวงจร (Soft Opening) ในช่วงเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้คาดว่าระบบ M-Flow จะพร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 65 โดยเปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ครบทั้ง 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 ในช่วงเดือน ม.ค.65 ส่วนทางพิเศษฉลองรัชของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะแรกจำนวน 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 ขณะที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง และทางพิเศษฉลองรัช ระยะที่ 2 บูรพาวิถี และกาญจนาภิเษก คาดว่าจะสามารถเปิดทดสอบระบบได้ในช่วงปี 66
สำหรับการอ่านป้ายทะเบียนนั้นจะมีระบบตรวจเช็ค 3 ชั้น เพื่อความแม่นยำ โดยใช้กล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัจฉริยะนั้น มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งรองรับรถความเร็วได้ถึง 160 กม./ชม. ขณะที่กฎหมายกำหนดความเร็วรถมอเตอร์เวย์ไม่เกิน 120 กม./ชม. ยังมีเจ้าหน้าที่อ่านป้ายทะเบียนรถเป็น Manual License Plate Recognition :MLPR และ ระบบ RFID ซึ่งผู้ใช้ทางจะได้รับสติ๊กเกอร์ติดไว้บริเวณกระจกรถ
ส่วนในด้านทัศนวิสัย เช่น ฝนตกหนัก หมอกหนา มีฝุ่นควัน นั้นได้มีการทดสอบระบบกล้องพบว่า ขณะนี้มีประสิทธิภาพความแม่นยำถึง 98% โดยจะใชเระบบการตรวจเช็ค 3 ชั้นควบคู่ไปด้วย
ระบบ M-Flow จะใช้ทั้งมอเตอร์เวย์และทางด่วนเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศก้าวสู่คามเป็นดิจิทัล และเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่าน รถสามารถผ่านดานได้เร็วขึ้น 5 เท่าจากระบบเงินสดหรือ Easy Pass/M-Pass ที่รถผ่านได้ 400 คัน/ช่อง เป็น 2,000 คัน/ช่อง อีกทั้ง ยังเป็นการบริหารรูปแบบ New Normal ไม่มีการสัมผัส ไม่มีความเสี่ยงโควิด-19 หรือเชื้อโรคอื่นๆ การชำระค่าบริการสะดวกทั้งระบบพรีเพดและโพสต์เพดในหลายช่องทาง ไม่ต้องจ่ายเงินสด เติมเงิน หรือซื้อคูปองเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้ใช้ทางจงใจฝ่าฝืนการชำระค่าผ่านทางจะมีระบบติดตาม ซึ่งกรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจทางหลวง จะร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย โดยมีโทษปรับ 10 เท่าของอัตราค่าบริการที่ติดค้าง และในอนาคตจะมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้นเหมือนมาตรฐานสากล
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า การทดสอบแบบเสมือนจริงนั้นจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสมาชิก เพื่อทดลองใช้บริการและมีส่วนร่วมในการทดสอบเสมือนจริง นอกจากนี้ยังได้เตรียมที่จะมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ (Promotion) เพื่อเชิญชวนให้ผู้ใช้ทางเข้ามาใช้ระบบ M-Flow ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ออกแบบระบบ M-Flow ในรูปแบบของ Single Platform System เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการทางพิเศษทั่วประเทศได้บน Platform เดียวกัน โดยบูรณาการเทคโนโลยีและการให้บริการอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยในระดับสากล รวมไปถึงการพัฒนาระบบให้รองรับความต้องการใช้งาน และตอบโจทย์ Lifestyle ของประชาชนในยุคดิจิทัลซึ่งเป็นสังคมไร้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การหักบัญชีธนาคารแบบอัตโนมัติ การตัดชำระผ่านระบบ Pre-Paid เช่น M-Pass Easy-Pass และ Wallet อื่นๆ ในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็จะยังคงมีบริการรับชำระเงินผ่านช่องของทางธนาคาร และ Counter Service ในรูปแบบต่างๆ ผ่าน QR Code ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยตลอดการเดินทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
ผู้สนใจสมัครใช้บริการในช่วงทดสอบระบบเสมือนจริงแบบครบวงจร(Soft Opening) ระบบ M-Flow ในเดือนตุลาคม 2564 โดยสามารถลงทะเบียนผ่านทางช่องทาง ดังนี้
1.WebSite : www.mflowthai.com
2.Mobile Application : Mflow
3.จุดบริการที่กรมทางหลวงกำหนด
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดการลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านทาง Facebook : https://www.facebook.com/mflowthailand