นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงผลการทดลองเบื้องต้นของวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เฟสที่ 1 ในกลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวนทั้งหมด 36 คน พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูงเทียบได้กับวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ เป็นต้น
โดยจากการทดสอบพบว่าสามารถกระตุ้นแอนตี้บอดี้ที่ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และด้วยแอนตี้บอดี้ที่สูงนี้จึงสามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมม่า และเดลตา นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัด และควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้
การทดลองวัคซีน ChulaCov19 ในเฟส 1 เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. 64 กลุ่มแรก คือกลุ่มอาสาสมัครอายุ 18-55 จำนวนทั้งหมด 36 คน ทุกคนได้รับวัคซีน ChulaCov19 ครบทั้งสองเข็ม โดยพบว่ามีความปลอดภัย และไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นเล็กน้อยหรือปานกลาง คือปวดบริเวณที่ฉีด, มีไข้, อ่อนเพลีย, ปวดกล้ามเนื้อ และหนาวสั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการในการฉีดเข็มที่ 2 อย่างไรก็ตามอาการจะดีขึ้นประมาณ 1-3 วัน ส่วนกลุ่มอาสาสมัครอายุ 56-75 จำนวนทั้งหมด 36 คน อยู่ระหว่างการดำเนินการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่ได้ทำการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว
ส่วนการทดลองในเฟส 2A จะเริ่มทดลองช่วงก่อนสิ้นเดือนนี้ หรือวันที่ 25 ส.ค. 64 ในกลุ่มอาสาสมัครอายุ 18-75 จำนวนทั้งหมด 150 คน โดยอาสาสมัคร 120 คนจะได้รับวัคซีน ChulaCov19 ส่วนอีก 30 คนจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งได้รับมาจากทางกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเป็นการทดลองเพื่อเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในเชิงวิชาการ
สำหรับผลการทดลองวัคซีน ChulaCov19 จากการทดสอบตรวจวัดภูมิคุ้มกัน RBD หรือความสามารถในการยับยั้งโปรตีนกลุ่มหนาม โดยจากการศึกษา พบว่า หากเกิน 68% จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ผลการทดลองในวัคซีนชนิดต่างๆ พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถยับยั้งได้ 94%, วัคซีนไฟเซอร์สามารถยับยั้งได้ 94%, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถยับยั้งได้ 84% และวัคซีนซิโนแวกสามารถยับยั้งได้ 75%
ส่วนรายละเอียดของการใช้วัคซีน ChulaCov19 คือจะต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยการขนส่งวัคซีน ChulaCov19 สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสได้เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน
นอกจากนี้จากการตรวจเชื้อไวรัสที่เพาะเลี้ยงของแต่ละสายพันธุ์เพื่อดูภูมิคุ้มกันในเลือดว่ามีความสามารถในการยับยั้งเข้าสู่เซลล์ในหลอดทดลองหรือไม่ โดยจากการเปรียบเทียบของวัคซีน ChulaCov19 และวัคซีนไฟเซอร์ ในช่วง 3 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 1 พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนในช่วง 1 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 2 ก็พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน
ด้านการทดลองการยับยั้งการข้ามสายพันธุ์ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม, เชื้อสายพันธุ์อัลฟา, เชื้อสายพันธุ์เบตา, เชื้อสายพันธุ์แกมม่า และเชื้อสายพันธุ์เดลตา
นพ.เกียรติ กล่าวถึงความคืบหน้าของการขึ้นทะเบียนวัคซีน ChulaCov19 กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอกติกาการขึ้นทะเบียนจากทางอย. ซึ่งคาดว่าจะสามารถทราบกติกาภายในเดือนก.ย. 64 โดยขณะนี้ทางศูนย์วิจัยอยู่ระหว่างการเตรียมตัวศึกษาโครงการสำหรับการทำวัคซีน ChulaCov19 เพื่อรองรับการฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ในปีหน้าด้วย เนื่องจากคาดว่าในปีหน้าประชาชนส่วนใหญ่กว่า 80% จะได้รับวัคซีนแล้ว พร้อมกันนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตวัคซีนในไทยได้ 100% ภายในเดือน ต.ค. 64 ประกอบกับได้มีการเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้หากประเทศไทยต้องการให้มีอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีนที่ทำการศึกษา ทดลองวิจัยโดยคนไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบ Emergency Use Authorization (EUA) หรือการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินภายในเดือนเม.ย. 65 จะต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน คือ 1. การระดมทุนที่ต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนต้องมีงบที่เพียงพอรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 2. กติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีน ต้องมีกติกาออกมาชัดเจนภายในเดือนหน้าจากอย. ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยระยะสองปี หรือระยะสามอย่างไรจึงจะเพียงพอ 3. โรงงานผลิตต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพ และจำนวนมากได้ และ 4. นโยบายการจอง และจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าต้องมีความชัดเจน