กรมชลประทานขอให้ ปชช.ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Saturday October 13, 2007 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กรมชลประทาน รายงานว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง อาทิ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และชัยนาท วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ 122.5 มิลลิเมตร และฝนที่ตกชุกในพื้นที่จังหวัดตาก และกำแพงเพชร ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์จำนวนมาก ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในระยะ 2-3 วันข้างหน้านี้ ปริมาณน้ำสูงสุดที่จะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (รับได้สูงสุด 3,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) และคาดว่าจะมีปริมาณน้ำสูงสุดไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
อย่างไรก็ตาม หากปริมาณน้ำดังกล่าวไหลผ่านลงมาทางตอนล่างก่อนถึงกรุงเทพฯ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำ โดยลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ลงมาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงภัยน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบทันที
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เดิมที่มีการะบายน้ำวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือระบายน้ำเพียงวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลหลากลงมาสู่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ล่าสุดวันนี้ (13 ต.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่จังหวัดนครสวรรค์ 1,612 ลูกบาศก์เมตร/วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จำนวน 1,533 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 413 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,619 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้สูงสุด 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งที่มีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีฝนตกชุกติดต่อกันในระยะ 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ นั้น กรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำ โดยใช้เครื่องสูบน้ำ จำนวน 70 เครื่อง จากจำนวนทั้งหมด 127 เครื่อง ที่ติดตั้งอยู่ตามสถานีสูบน้ำ 7 แห่ง เร่งระบายน้ำออกทางคลองชายทะเล นอกจากนี้ ยังได้มีการระบายน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำต่าง ๆ ทำให้สามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ