สธ. ยันวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯ ยังมีประสิทธิภาพป้องกันป่วยโควิดรุนแรงได้

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2021 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วัคซีนเชื้อตายที่ใช้ในประเทศไทยทั้งวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ยังมีประสิทธิภาพในการลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 โดส วัคซีนซิโนแวคสามารถป้องกันการติดเชื้อและป่วยได้ 72% และป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอยู่ที่ 98% ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันการติดเชื้อ และป่วยได้ที่ 96%

จากผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนในบุคลากรการแพทย์ของประเทศไทย ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส พบบุคลากรติดเชื้อแยกเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 โดส (นานเกิน 14 วัน) จำนวน 2,154 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ติดเชื้อ และไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน 598 ราย โดยจากการศึกษาแบบ Matched case-control พบการป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอยู่ที่ 98% (95% CI = 74-100%) ทั้งนี้ พบว่าสามารถการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้ 72% (95% CI = 67-77%) และสามารถแยกประสิทธิผลรายเดือนได้ดังนี้ เดือนพ.ค. สามารถการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้ 71% เดือนมิ.ย. สามารถป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้ 74% และเดือนก.ค. สามารถการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้ 71%

สำหรับการประเมินประสิทธิผลวัคซีนในบุคลากรการแพทย์ของประเทศไทย ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 โดส พบบุคลากรติดเชื้อแยกเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส (นานเกิน 14 วัน) จำนวน 36 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ติดเชื้อ และไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน 585 ราย โดยจากการศึกษาแบบ Matched case-control พบการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้ 96% (95% CI = 92-98%)

ส่วนการประเมินประสิทธิผลวัคซีนในบุคลากรการแพทย์ของประเทศไทย ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส พบว่าบุคลากรติดเชื้อแยกเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส (นานเกิน 14 วัน) จำนวน 129 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ติดเชื้อ และไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน 597 ราย โดยจากการศึกษาแบบ Matched case-control พบการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยได้ 88% (95% CI = 83-91%)

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มอีก 12 ล้านโดสนั้น เนื่องจากทางแอสตร้าเซนเนก้าประสบปัญหาติดขัดไม่สามารถจัดส่งให้ประเทศไทยตามแผนได้ จึงมีแนวคิดการฉีดวัคซีนแบบสลับ คือวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เนื่องจากจากการศึกษาพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง และประหยัดเวลากว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 โดส

ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศไทย วันนี้ฉีดวัคซีนเพิ่มจำนวน 508,498 โดส และมีการฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 24,100,631 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 18,370,997 คิดเป็น 25.5% ของประชากร และเข็มที่ 2 จำนวน 5,228,157 โดส คิดเป็น 7.3% ของประชากร โดยประชาชนได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 11,399,453 โดส, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 10,255,294 โดส, วัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 2,036,818 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 409,066 โดส ด้านชาวต่างชาติในประเทศไทย ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 356,337 ราย คิดเป็น 7.27% โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 27,028 ราย คิดเป็น 7.6%

ทั้งนี้ พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 พบว่าอัตราการเสียชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ 61 ปีขึ้นไป อยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ โดยในเดือนเม.ย. พบอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 6.97%, เดือนพ.ค. พบอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 9.01%, เดือนมิ.ย. พบอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 14.62% และเดือนก.ค. พบอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 12.70%

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะลดลงในเดือนล่าสุด แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป พร้อมกันนี้ขอให้ผู้สูงอายุเดินทางมารับวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้มากขึ้น โดยยังยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ