ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,571 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 17,574 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,748 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 235 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 14 ราย จากเมียนมา 4 ราย (ช่องทางธรรมชาติ 1 ราย), มาเลเซีย 6 ราย (ช่องทางธรรมชาติ 2 ราย) และเกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ประเทศละ 1 ราย
- เสียชีวิต 261 ราย เพศชาย 139 ราย เพศหญิง 122 ราย อายุ 15-109 ปี (อายุเฉลี่ย 68 ปี)
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,030,281 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 23,159 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 9,087 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 211,553,537 ราย เสียชีวิต 4,427,767 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 38,398,596 ราย อันดับ 2 อินเดีย 32,392,506 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,528,099 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,705,523 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 6,579,675 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 33
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อติดเชื้อทั่วโลกแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แต่แนวโน้มผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้และสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นกว่าราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร (กทม.)และปริมณฑล 8 พันกว่าราย หรือคิดเป็น 42% ที่เหลือกอีก 58% เป็นผู้ติดเชื้อใน 71 จังหวัด ซึ่งแนวโน้มคงที่มาหลายวัน
ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 175 ราย และผู้มีโรคเรื้อรัง 55 ราย โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้คิดเป็น 87% ของผู้เสียชีวิต อีก 30 ราย ไม่มีโรคประจำตัว และเป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย
นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตในกทม. คิดเป็น 1 ใน 3 จากเดิมที่คิดเป็นครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นเป็นจังหวัดในปริมณฑล 53 ราย จังหวัดชายแดนใต้ 24 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ที่เหลือเป็นจังหวัดภาคเหนือและภาคกลาง
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับเข้าในประเทศไทยในไทยตั้งแต่เดือนก.พ.-ส.ค.ว่า ขณะนี้จำนวนวัคซีนเข้ามาแล้วกว่า 30 ล้านโดส
สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่มิ.ย. - ส.ค. มีการส่งมอบเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5-6 ล้านโดส และจากการเจรจากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณว่าในเดือนก.ย. เป็นต้นไปจะส่งวัคซีนได้ 7.2 ล้านโดส
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีน ทั้งที่จะต้องเป็นการฉีดกระตุ้นในเข็มที่ 3 และการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็ก
"ปี 65 ต้องหาวัคซีนมาเพิ่มเติมสำหรับ 2 กลุ่ม โดยมีแผนจัดหา 120 ล้านโดส ซึ่งเน้นความหลากหลายทั้ง mRNA ไวรัสเวคเตอร์ เชื้อตาย ซึ่งได้มีการเจรจากับหลายบริษัท"