ดุสิตโพลเผยยุคโควิดรายจ่ายเพิ่ม-คนนำเงินออมมาใช้ วอนรัฐช่วยค่าครองชีพ

ข่าวทั่วไป Sunday August 22, 2021 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดุสิตโพลเผยยุคโควิดรายจ่ายเพิ่ม-คนนำเงินออมมาใช้ วอนรัฐช่วยค่าครองชีพ

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การใช้จ่ายของคนไทยในยุคโควิด-19" เนื่องจากในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการใช้จ่ายของประชาชน ณ วันนี้ เปรียบเทียบกับก่อนมีโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 40.22% ตอบว่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รองลงมา 33.60% ตอบว่าใช้จ่ายลดลง ส่วนอีก 26.18% ตอบว่าใช้จ่ายเท่าเดิม

เมื่อถามว่า ปัจจุบันประชาชนนำเงินจากช่องทางใดมาใช้จ่าย พบว่า อันดับ 1 ตอบว่า รายได้จากการทำงานหลักและงานเสริม อันดับ 2 ตอบว่า นำเงินออมออกมาใช้ และ อันดับ 3 ตอบว่า มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เงินเยียวยา

สำหรับประชาชนที่มีเงินออม ในช่วงนี้มีการนำเงินออมมาใช้มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ประชาชน 42.63% ตอบว่าใช้ไปบ้างบางส่วน อันดับ 2 ประชาชน 19.36% ตอบว่าใช้ไปเกือบหมดแล้ว อันดับ 3 ประชาชน 15.15% ตอบว่าใช้ไปกว่าครึ่ง อันดับ 4 ประชาชน 12.64% ตอบว่าใช้ไปหมดแล้ว และอันดับ 5 ประชาชน 10.22% ตอบว่าไม่ได้นำเงินออมมาใช้

เมื่อถามว่า ในช่วงโควิด-19 รูปแบบการใช้จ่ายของประชาชนเป็นอย่างไร อันดับ 1 ตอบว่า ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย วางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม อันดับ 2 ตอบว่า ซื้อสินค้าทีละจำนวนมาก กักตุนสินค้าจำเป็น อันดับ 3 ตอบว่า ซื้อสินค้าที่ราคาประหยัดกว่า ซื้อช่วงจัดโปรโมชั่น

ทั้งนี้ ประชาชนอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการใช้จ่ายของประชาชน ณ วันนี้ อย่างไร พบว่า อันดับ 1 ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำมัน อันดับ 2 ลดภาระค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้า อันดับ 3 มีมาตรการเยียวยาประชาชนแบบทั่วถึงทุกคน อันดับ 4 พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และอันดับ 5 จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดในพื้นที่ต่างๆ

ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,274 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคม 2564

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ถึงแม้ว่าในช่วงโควิด-19 ประชาชนจะประหยัดและวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม แต่ก็ยังต้องนำเงินออมออกมาใช้ เพราะโควิด-19 ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ว่างงาน ตกงาน และเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังการบริโภคภายในประเทศมากนัก

ทั้งนี้ ประชาชนมองว่าจะประคองตัวเองต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ