ธุรกิจขนาดใหญ่เห็นพ้องโควิดเร่งการเปลี่ยนแปลง-ปฏิรูปตัวเองรับวิถีโลกใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2021 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานไทยแลนด์โฟกัส 2021 ช่วงของการเสวนา "การปรับตัวของธุรกิจไทยเพื่อก้าวข้ามวิกฤต" ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจธนาคารในทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้าและตัวธนาคารเอง โดยเฉพาะความไม่สะวดวกจากการปิดสาขาและการปรับรูปแบบทำงานเป็น Work From Home (WFH ) ขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์สูงขึ้นอย่างมาก

นอกจากนั้น สถานการณ์โควิด-19 ยังเปิดโอกาสใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ จนถึงผู้ค้ารายย่อย สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งในการใช้บริการและให้บริการ ตลอดจนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าต่างชาติด้วยการชำระเงินออนไลน์ เช่น อาลีเพย์ วีแชตเพย์ นับเป็นการเร่งปรับตัวให้รับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้เร็วขึ้น พร้อมกับพนักงานก็ได้ปรับตัวทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละภาคส่วนแตกต่างกัน เช่น ภาคท่องเที่ยว บริการ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าไอที และ ธุรกิจดิลิเวอรี่ ได้อานิสงค์จากการ WFH

นายชาติศิริ กล่าวว่า สำหรับภาคธนาคารแม้ว่าจะได้รับผลกระทบ แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ ทำอย่างไรที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ธนาคารกรุงเทพมุ่งเน้นเติมสภาพคล่องให้ลูกค้าเพื่อให้ยังคงการจ้างงานต่อไป รวมทั้งมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ให้ลูกค้าเดินหน้าต่อไป ทั้งจากโครงการซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการเศรษฐกิจต่างๆ ของกระทรวงการคลัง รวมทั้งการสนับสนุนของบริษัทขนาดใหญ่รักษาซัพพลายเชนให้คงอยู่นั้นมีส่วนช่วยภาคธุรกิจได้อย่างมาก

สำหรับโลกหลังโควิดนั้น ไทยจะเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าการเดินทางทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นโดยเร็ว อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมา ไทยจึงควรหันไปยังการท่องเที่ยวที่มูลค่าเพิ่มทดแทนการเน้นปริมาณ นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก การเร่งสร้างความร่วมมือระบบการเงินระดับภูมิภาค โดยเฉพาะระบบการชำระเงินจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เอเชีย ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวจะเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ทั่วภูมิภาค ทั้งหมดนี้จะเอื้อประโยชน์ หากจีนที่จะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกต่อไป

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องปฎิรูปตัวเองและเน้นไปที่อุตสาหกรรม S-curve เช่น ธุรกิจสุขภาพเวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด โซลาร์เซลล์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ และ ท่าเรือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย และเดินหน้าโครงการอีอีซีเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องให้เร่งสร้างงานประชาชนที่สูญเสียรายได้ และ สนับสนุนให้เกิดธุรกิจท้องถิ่น

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) กล่าวว่า สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และ สังคม

จากประสบการณ์ในปี 60 ที่ประเทศไทยเผชิญกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น กลุ่มเซ็นทรัลฯ ได้ปรับตัวมุ่งสู่แนวทาง New Central New Retail นับเป็นโชคดีที่เซ็นทรัลฯ ได้เริ่มต้นได้ทันเวลาทำให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีพอสมควร ซึ่งการเข้ายุคดิจิทัลมุ่งสู่ Omnichannel Economy การทำตลาดแบบหลายช่องทาง เพราะลูกค้าต้องการเป็นผู้ควบคุมและตัดสินใจ ซึ่งแตกต่างในจากสหรัฐและจีนมองว่าการทำตลาดจะมุ่งสู่ออนไลน์เท่านั้น

ขณะที่ในช่วงวิกฤตโควิดบริษัทฯ ต้องรับมือ 2 ด้าน คือ การอยู่รอดซึ่งจะต้องปรับตัวเร็วและมีความยืดหยุ่น ขณะที่ยังต้องเอาชนะ ความคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ธุรกิจคงอยู่ได้ วิกฤติโควิดทำให้ช่องว่างระหว่างผู้นำกับผู้ตามแคบลง รวมทั้งโควิดให้บทเรียนว่าเราไม่สามารถอยู่รอดได้คนเดียว แต่ทั้งซัพพลายเชนต้องรอดไปด้วยกัน ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ลูกค้า พนักงาน

นายญนน์ กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าหลังจากนี้จะเผชิญโลกหลังโควิด หรือ จะต้องอยู่กับโควิดต่อไปอย่างไร แต่ชัดเจนว่าโควิดได้ส่งผลให้เกิดการ Reset เศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณค่า สุขภาพ ประสบการณ์ และ ความยั่งยืน สำหรับธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องปรับสูตรการดำเนินธุรกิจใหม่ตั้งแต่ การปรับองค์กรให้อยู่รอดด้วยความฉลาด การปรับบิสสิเนสโมเดลใหม่เน้นความแตกต่าง การทำงานคิดใหม่ทำใหม่ ล้มเร็วลุกเร็ว มุ่งการทำงานเป็นทีมไม่ใช่วันแมนโชว์

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า 3 ธุรกิจของ SCG ได้รับผลกระทบต่างกัน ได้แก่ ธุรกิจเคมิคอลมีสัดส่วน 50% ของธุรกิจทั้งหมด ผลกระทบขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ธุรกิจปูนซีเมนต์ มีสัดส่วน 30% ทิศทางธุรกิจขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ และนโยบายรัฐบาล ส่วนธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง 20% ผลกระทบขึ้นกับเศรษฐกิจภูมิภาค

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาด บริษัทฯ เห็นว่าการเข้าใจต่อสถานการณ์โควิดอย่างถูกต้องมีความจำเป็นเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง จึงได้ปรับให้มีประชุมจากรายเดือนเป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้ SCG ยังได้ปรับแผนการทำงานของพนักงานทั้ง WFH และในโรงงาน เพื่อไม่ให้ซัพพลายเชนสะดุด และลดผลกระทบน้อยที่สุดหากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด

สถานการณ์โควิดทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป นำสู่การปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เข้ากับการ WFH โดยหันมาให้บริการรีโนเวทปรับปรุงตกแต่งบ้าน พร้อมกับเร่งตัวให้พันธมิตรธุรกิจในซัพพลายเชนได้ปรับตัวสู่วัฒนธรรมอีคอมเมิร์ซเร็วขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง การปฏิบัติต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานเหมือนกันเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกันโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ