นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศโดยรวมดีขึ้น หลังจากจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านเพิ่มขึ้น และเริ่มมีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อต่อวัน ส่วนการบริหารจัดการเตียงในขณะนี้ พบว่าจำนวนเตียงในพื้นที่ กทม. เริ่มเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย เนื่องจากการทำ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (SI) เป็นไปอย่างมีระบบ ส่งผลให้การบริหารจัดสรรเตียงเป็นไปอย่างราบรื่น โดยจากข้อมูลการรอคอยเตียงในระบบ Call Center พบว่าจำนวนผู้รอเตียงสีแดงมีจำนวนลดลง และมีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 24 ชม. ลดลงเรื่อยๆ
"เตียงสีเหลืองใน กทม. มีการบริหารจัดการได้ดี แต่เตียงสีแดงยังมีผู้ป่วยต้องรอเตียงอยู่ เนื่องจากในพื้นที่กทม. มีความสามารถในการรองรับผู้ป่วยได้เพียง 1,000 ราย/วันเท่านั้น ขณะที่ตอนนี้ยังมีผู้ป่วยใน กทม.สูงถึง 4,000 ราย/วัน ส่วนสถานการณ์เตียงในพื้นที่ต่างจังหวัด เริ่มตึง ๆ บ้าง แต่ยังบริหารจัดการได้ดีอยู่ เนื่องจากสามารถขยายเตียงไปยังชุมชนได้" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้การทำ HI ในพื้นที่ กทม. เริ่มเป็นไปอย่างมีระบบ โดยมีจำนวนเคสการทำ HI สะสมอยู่ที่ 87,023 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยที่ทำ HI เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,000 ราย ทั้งนี้ การทำ HI หรือการแยกกักตัวที่บ้านที่ได้มาตรฐานนั้น ผู้ป่วยจะต้องทำการแยกทั้งหมด 7 อย่าง คือ 1.แยกนอน 2.แยกกิน 3.แยกอยู่ 4.แยกใช้ 5.แยกทิ้ง 6.แยกห้องน้ำ และ 7.แยกอากาศ
ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ จะต้องทำ CI ที่ศูนย์พักคอย โดยในพื้นที่กทม. มีการเปิดศูนย์ CI ให้ใช้บริการแล้วทั้งหมด 64 แห่ง มีเตียงทั้งหมด 8,694 เตียง และมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 3,410 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเตียงเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยต่อวันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 200 ราย
อย่างไรก็ดี ประชาชนบางรายมีความกังวลต่อคุณภาพการทำ HI โดยมีการร้องเรียนว่าวิธีปฎิบัติไม่เป็นไปตามที่ทาง สธ. ระบุ เช่น ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับการโทรศัพท์เช็คอาการจากแพทย์ 2 ครั้ง/วัน หรือบางรายไม่ได้รับยา และอาหาร 3 มื้อ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพการทำ HI ที่มีคุณภาพ จึงจะมีการประเมินคุณภาพการทำ HI โดยประเมินทั้ง 2 ด้าน คือ การประเมินโดยผู้ให้บริการ และการประเมินโดยผู้รับบริการ (Patient Reporting Outcome Measurement) ซึ่งจะมีการตรวจสอบคุณภาพทั้ง "Standard Set for HI" ที่จะต้องมีอุปกรณ์พื้นฐานครบทั้งหมด 4 อย่าง คือ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้, หน้ากากอนามัย, เครื่องวัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือด และถุงขยะสีแดงเพื่อใส่ขยะติดเชื้อ โดยการประเมินคุณภาพนี้ จะมีการนำร่องที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทั้ง 3 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี
ในส่วนของการทำ HI และ CI สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้ที่มีความพิการทางร่างกาย มีความพิการทางจิตใจ รวมทั้งเด็ก ได้มีการเตรียมการรองรับผู้ป่วยตามสถานที่ต่าง ๆ ไว้ดังนี้ โรงพยาบาลตามสิทธิเพิ่มเติมส่วนพิการทางจิต (รพ.ศรีธัญญา และรพ.สมเด็จเจ้าพระยา), โรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการ (รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ และสถาบันราชานุกูล), HI สถาบันสิรินธรเพื่อคนพิการ, CI โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ (รพ.รามาธิบดี และสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ) และ CI สำหรับเด็กอายุ 7-15 ปี ณ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ที่เกียกกาย โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ดำเนินการร่วมกับเขตดุสิต