นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกประกาศกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ ที่พำนักของผู้ป่วยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีความเหมาะสม ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว และมีมาตรฐานสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน
โดยกำหนดให้สถานพยาบาล ประเภท 1.บ้านพักของผู้ป่วย (Home Isolation) 2.โรงแรม หอพัก หรืออพาร์ตเมนท์ (Hotel Isolation) และ 3.หมู่บ้าน โรงเรียน วัด หรือสถานที่อื่นใดที่ภาครัฐเห็นเหมาะสม (Community Isolation) ซึ่งใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระหว่างรอการรักษาจากสถานพยาบาล หรือใช้ในการพักฟื้นผู้ป่วยที่ที่ผ่านการรักษาจากสถานพยาบาลมาแล้วสิบวัน หรือตามเวลาที่เหมาะสม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โดยประเภทที่ 1 คือ บ้านพักผู้ป่วย (Home Isolation) ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมกับผู้อนุญาต คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนประเภทที่ 2 Hotel Isolation และประเภทที่ 3 Community Isolation ต้องยื่นคำขออนุมัติเพื่อดำเนินการต่ออธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแต่ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า แม้สถานพยาบาลข้างต้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายสถานพยาบาล แต่ทางภาครัฐก็จะมีการควบคุมมาตรฐานสถานพยาบาลเหล่านี้ให้มีสภาพเหมาะสมต่อการดูแลผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัย โดยสถานที่จะต้องมีการแบ่งสัดส่วนแยกออกจากผู้อื่น สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมต่อการให้การรักษาพยาบาล หรือลักษณะอื่นตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพหรือกรมการแพทย์กำหนด และจะต้องจัดให้จัดหาอาหารหรือมีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็น โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยออกไปจัดหาสิ่งของด้วยตนเองนอกสถานที่ ประการสำคัญสถานพยาบาลต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ และเหมาะสม เพื่อติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วย ผ่านระบบการสื่อสารทุกวัน และหากผู้ป่วยมีอาการทรุดลงจะต้องพร้อมส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาตัวในสถานพยาบาลที่เหมาะสมโดยทันที
"ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจได้ว่าในระหว่างรอรับการรักษาจากโรงพยาบาล หรือหลังเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้แล้ว และจำหน่ายเพื่อรักษาต่อเนื่อง ณ ที่พำนักของผู้ป่วย ก็จะได้รับการดูแล การติดตามและประเมินอาการของผู้ป่วย ที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเหมาะสมตามที่ภาครัฐกำหนดอย่างแน่นอน" ทพ.อาคม กล่าว