ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,972 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,137 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,544 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 280 ราย
- ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 2,028 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 11 ราย มาจากเมียนมา 6 ราย (ช่องทางธรรมชาติ 1 ราย) , กัมพูชา 3 ราย (ช่องทางธรรมชาติ 1 ราย) , อังกฤษ และเดนมาร์กประเทศละ 1 ราย
- เสียชีวิต 256 ราย อายุ 16-98 ปี (อายุเฉลี่ย 69 ปี) โดยมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป (179 ราย) และผู้เป็นโรคเรื้อรัง (55 ราย) โดยทั้ง 2 กลุ่มคิดเป็น 91% และเป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่อยู่ในกรุงเทพฯ มากสุด 79 ราย
"มีการปรับเปลี่ยนแผนฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 หลังมีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเลื่อนคิวของผู้ที่ลงทะเบียนไว้ในเดือนสิงหาคมออกไป โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีอยู่ราว 5 แสนราย แต่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนไป 37,357 ราย หรือแค่ 7.5% เท่านั้น" นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าว
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,771 ราย สมุทรปราการ 1,055 ราย สมุทรสาคร 966 ราย ราชบุรี 779 ราย ชลบุรี 747 ราย ระยอง 518 ราย นครราชสีมา 406 ราย พระนครศรีอยุธยา 405 ราย บุรีรัมย์ 389 ราย และนนทบุรี 365 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,190,063 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 17,281 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 11,399 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 176,137 ราย อาหารหนัก 5,058 ราย ในจำนวนนี้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1,062 ราย
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 32 ที่เพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวานนี้ ไม่ใช่การปลดล็อกหรือผ่อนคลาย แต่เป็นการปรับมาตรการให้เหมาะสมกับแนวทางการดำเนินชีวิตตามวิถีใหม่ (new Normal) เพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับโควิด-19 ได้เหมือนกับในปัจจุบันที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรควัณโรค หรือโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ เนื่องจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์นั้นยังคงมีใช้เฉพาะในบางประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย
โดยจะมีการดำเนินมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย (Smart Control and Living with Covid-19) นั้น ภาครัฐจะเร่งรัดกำหนดมาตรการรองรับที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้การปรับมาตรการในครั้งนี้ไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งการกำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้จัดกิจกรรม จะมีแนวทางตามมาตรการ COVID-Free Setting ส่วนประชาชนทั่วไปก็ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการครอบจัรวาล (Universal Prevention)
"ในเดือนกันยายนจะเป็นทดสอบมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ตลอดทั้งเดือนว่าจะได้ผลหรือไม่" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
สำหรับข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 32 ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม แต่ปรับให้บางกิจการ/กิจกรรมสามารถดำเนินการได้ เช่น ให้ร้านอาหารติดแอร์สามารถรับลูกค้าได้ 50% ส่วนร้านอาหารแบบเปิดรับลูกค้าได้ 75% แต่ห้ามจำหน่ายสุราเช่นเดิม, เพิ่มจำนวนคนที่มาร่วมกลุ่มจัดกิจกรรมได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อการประชุมหรืองานเลี้ยง, การเตรียมความพร้อมในเรื่องยา เวชภัณฑ์ และโรงพยาบาล, ให้เปิดบริการสนามกีฬากลางแจ้งได้ไม่เกิน 2 ทุ่ม, ให้ห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ถึง 2 ทุ่ม, ให้ระบบขนส่งสาธารณะจำกัดผู้โดยสารไม่เกิน 75%, ให้ ศปก.ศบค.ประเมินสถานการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแล้วเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ เป็นต้น
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 217,207,453 ราย เสียชีวิต 4,514,945 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 39,665,515 ราย อันดับ 2 อินเดีย 32,737,569 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,741,815 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,882,827 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 6,742,488 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 29