กนอ.ซื้อน้ำดิบป้อนนิคมฯแหลมฉบัง-มาบตาพุดเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งพื้นที่ EEC

ข่าวทั่วไป Wednesday September 1, 2021 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กนอ.ซื้อน้ำดิบป้อนนิคมฯแหลมฉบัง-มาบตาพุดเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งพื้นที่ EEC

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับบริษัท วาย. เอส. เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านน้ำในภาคอุตสาหกรรม และรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี

เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในเขตพื้นที่อีอีซีนั้นพบว่า ต้นทุนน้ำรวมของน้ำปัจจุบันมีปริมาณเท่ากับ 1,537.59 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณความต้องการน้ำรวมทั้งหมดสูงถึง 2,190.98 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นความต้องการภาคอุตสาหกรรมเท่ากับ 625.31 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ จากการพยากรณ์ความต้องการน้ำในอนาคตจะเท่ากับ 2,481.31/2,615.63 และ 2,722.79 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะ 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีข้างหน้าตามลำดับ แสดงถึงความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในอนาคต ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณารายจังหวัดจะเห็นว่า จังหวัดชลบุรี ปริมาณความต้องการน้ำภาคอุตสาหกรรมมีจำนวน 247.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนของจังหวัดมีเพียง 291.63 ล้านลูกบาศก์เมตร และจังหวัดระยอง ปริมาณความต้องการน้ำภาคอุตสาหกรรมมีจำนวน 307.3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่ปริมาณน้ำต้นทุนของจังหวัดมีเพียง 757.77 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากกรณีดังกล่าว กนอ.จึงจำเป็นต้องหาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อให้กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

"ปัจจุบันนิคมฯ ทั้ง 2 แห่ง มีผู้ประกอบการโรงงานเปิดดำเนินการแล้วกว่า 300 โรงงาน แบ่งเป็นนิคมฯ แหลมฉบัง 221 โรง และนิคมฯ มาบตาพุด 82 โรง ซึ่งในปี 2564 ปริมาณการใช้น้ำสำหรับนิคมฯ แหลมฉบัง มีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 740,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน (เฉลี่ยอยู่ที่ 24,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน) และนิคมฯ มาบตาพุด มีปริมาณการใช้น้ำประมาณ 6,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน (อยู่ที่ 213,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) ซึ่งจากปริมาณการใช้น้ำที่มีปริมาณค่อนข้างสูงจึงจำเป็นต้องสรรหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ ขณะเดียวกันยังเป็นการป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบในวันนี้ (1 ก.ย.64) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการบริหารจัดการด้านน้ำของ กนอ. เพื่อให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่สะดุด ขณะเดียวกันยังรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีได้อีกด้วย" นายวีริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังในปัจจุบัน มาจากบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) โดยจ่ายน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 80% และจากอ่างหนองค้อหรืออ่างบางพระ 20% ขณะที่แหล่งน้ำดิบของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ โดยการจ่ายน้ำของ EASTW เช่นกัน ซึ่งการสรรหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติมในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการในการจ่ายน้ำประปาให้แก่ผู้ประกอบการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออก

สำหรับบริษัท วาย. เอส. เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพและมีความสามารถจ่ายน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ได้ในราคาที่เหมาะสม โดยบริษัทฯ จะดำเนินการจัดหาและจ่ายน้ำดิบให้กับ กนอ. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ในปริมาณไม่น้อยกว่า 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในปริมาณไม่น้อยกว่า 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ