นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ชี้แจงกรณีข้อสงสัยความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับคณะกรรมการวิชาการบริหารจัดการควบคุมป้องกันโรค วัคซีน และการรักษา ซึ่งข้อมูลที่มีการนำมาใช้ประกอบการอภิปรายส่วนใหญ่เป็นเทคนิคทางวิชาการ อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงได้ขอชี้แจง ใน 3 ประเด็น คือ 1.การระบาดของโรคโควิด-19 2.ประสิทธิผลของวัคซีนต่อเชื้อกลายพันธุ์ และ 3.แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ
โดยในการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการวิชาการจากทุกสาขาได้คิดค้น พัฒนา ปรับปรุง ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลบำบัดรักษาและให้วัคซีนครบวงจร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน ฉีดไปแล้ว 32 ล้านโดส เป็นไปตามแผนการจัดการวัคซีน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดและคุ้มค่าที่สุด ภายใต้หลักฐานทางวิชาการที่ได้มีการวิจัย ทดลอง สังเกต นำมาประยุกต์ใช้
"โดยวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จะเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดให้กับประชาชน ยืนยันว่ามีความปลอดภัย ระยะต่อไปเมื่อมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดิร์นนา ซิโนฟาร์ม จะหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีน ให้ทันกับสถานการณ์สู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัสเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนทุกชนิดในโลกตั้งต้นมาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลาเป็นสายพันธุ์จี อัลฟา เบตา ปัจจุบันในไทยพบเป็นสายพันธุ์เดลตา กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญวิจัยติดตามภูมิคุ้มกันจากวัคซีน นำมาสู่การบริหารจัดการฉีดสูตรไขว้ซิโนแวคเป็นเข็มแรกตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า พบมีประสิทธิผลเทียบเท่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่สามารถฉีดได้รวดเร็วและครอบคลุม 2 เท่า
รวมทั้งแผนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม โดยใช้วัคซีนต่างชนิดกัน จำนวน 3 ล้านคน โดยงานวิจัยดังกล่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อยู่ระหว่างการเสนอตีพิมพ์ ซึ่งกระบวนการใช้เวลานานในสถานการณ์เร่งด่วนและฉุกเฉิน ไม่สามารถรอตีพิมพ์ก่อนแล้วมาบริหารจัดการได้
"วัคซีนสูตรไขว้ฉีดแล้วกว่า 1.5 ล้านคน มีความปลอดภัย ขออย่าพูดอะไรที่ทำให้ประชาชนสับสน ขณะนี้ไม่ได้ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว แต่เป็นสูตรไขว้" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความรู้ใหม่ทั้งตัวเชื้อและวัคซีนเปลี่ยนตลอดเวลา จึงต้องปรับให้ทันสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของคนไทย สายพันธุ์เดลตาประสิทธิภาพวัคซีนลดลงทุกตัว แต่ยังป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต จึงต้องเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีนที่มีจำกัด ดังนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านโรคติดเชื้อ ด้านวัคซีนและด้านระบาดวิทยาเป็นต้น ได้ร่วมกันสรุปหาข้อวินิจฉัยโดยอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่ประเทศไทยมีและทั่วโลก ทั้งจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเทค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ข้อมูลตรงกันว่าสูตรไขว้มีประโยชน์ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติถือว่ามีความรอบคอบรอบด้าน
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ร่วมกับคณะแพทย์และคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันกำหนดแนวทางการรักษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 มีการกำหนดและปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ และผ่านการพิจารณาของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) เพื่อประกาศใช้ทั่วประเทศ
ล่าสุด ได้ปรับแนวทางให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นในผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีอาการเล็กน้อยและกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วและได้นำไปใช้ใน HI/CI โดยกระจายยาไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ และยังให้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และไม่มีโรคประจำตัวอีกด้วย