น.พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านและแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ) ได้มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย และแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ทราบใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งอาศัยคำแนะนำจากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 64 ร่วมกับพิจารณาปัจจัยด้านการบริหารจัดการ ทั้งนี้ คำแนะนำอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาด หรือจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบในแต่ละช่วงเวลา หรือข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยการฉีดวัคซีนโควิดสูตรไขว้ของประเทศไทย มีทั้งหมด 2 สูตร คือสูตรแรก คือฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง โดยมีระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ซึ่งสูตรนี้เป็นวัคซีนสูตรหลักของประเทศไทย ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม และสูตรที่สอง คือ ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก และฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง โดยมีระยะห่าง 4-12 สัปดาห์ ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม ซึ่งขณะนี้มีการใช้สูตรนี้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงบ้างแล้ว ทั้งนี้จะมีการใช้สูตรนี้อย่างแพร่หลายตั้งแต่เดือนต.ค. 64 เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ช่วงปลายเดือนก.ย. 64 นี้
ส่วนสูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแบบเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม หลังจากการฉีดอย่างน้อย 4 สัปดาห์จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นสูตรการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขมีการศึกษาวิจัยแล้วว่ามีประสิทธิภาพดี และสอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยยืนยันว่าสูตรการฉีดวัคซีนทุกสูตร มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ มีความเห็นตรงกันว่าสำหรับผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว อย่างน้อย 1-3 เดือน หลังจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 และพ้นระยะกักตัวแล้ว หรือหากหายแล้วเกิน 3 เดือน มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็มเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยแนะนำให้ฉีดด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งมีการกำหนดแนวทาง คือให้นำไปใช้กับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบโดส และผู้ที่ได้วัคซีนครบ 2 โดสแล้ว แต่เข็มที่สองยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ
ในส่วนของแผนการจัดหาวัคซีน เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 70% ของประชากรทั่วประเทศ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา จึงอาจมีการปรับเป้าหมายเพิ่มเป็นมากกว่า 70% ทั้งนี้คาดว่าปลายปี 64 นี้ประเทศไทยจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 140 ล้านโดส ซึ่งคาดว่ามีเพียงพอสำหรับฉีดตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับการเจรจาการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีผู้กล่าวว่าไม่มีการระบุวันส่งมอบนั้น วันที่เซ็นสัญญาเมื่อเดือนพ.ย. 63 เป็นช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนผลิตออกมาในท้องตลาด ดังนั้นจึงไม่มีการระบุระยะเวลา แต่ทางสธ. ได้มีการหารือกับทางแอสตร้าเซนเนก้าเป็นระยะๆ นอกจากนี้ การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเมื่อมีการผลิตในเดือนมิ.ย. 64 ประเทศไทยก็ได้รับวัคซีนเต็มจำนวน โดยมีการส่งออกในเดือนก.ค. และในช่วงเดือนก.ย.เป็นต้นไป จะเป็นการใช้วัคซีนในประเทศไทยเอง ดังนั้นจึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ
ในส่วนของการเจรจาจัดหาวัคซีนไฟเซอร์นั้น ทาง สธ.ได้มีการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สธ. ได้ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มีการพบปะกับผู้แทนของบริษัทไฟเซอร์ตั้งแต่เดือนก.ค. 63 ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการทดลองวัคซีนในระยะที่ 1 และ 2 จนกระทั่งได้มีการเซ็นสัญญาในเดือนมิ.ย. 64 ซึ่งประเทศไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนช่วงปลายเดือนก.ย. 64 นี้จำนวน 2 ล้านโดส และในเดือนต.ค.-ธ.ค. อีกประมาณเดือนละ 8-10 ล้านโดส
ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบตรวจหาแบบแอนติเจน หรือ Antigen Test Kit (ATK) โดยคณะทำงานชุดนี้ จะนำผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ปรึกษา คำแนะนำที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ ที่จะนำไปสู่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นนโยบายต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อชุดตรวจ ATK ออกสู่ท้องตลาด สธ.ได้มีแนวทางการเฝ้าระวังชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจน (ATK) ในท้องตลาด โดยมีการตรวจสถานที่ผลิต นำเข้าและขาย เพื่อกระจายสินค้าที่ถูกกฎหมาย, การสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจสอบฉลากและคุณภาพ และมีการตรวจสอบโฆษณาผิดกฎหมาย รวมทั้งร่วมกับตำรวจปราบปรามการผลิต นำเข้า และขายที่ไม่ถูกกฎหมาย
ด้านนพ.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ชุดตรวจ และน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบตรวจหาแบบ ATK ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ต้องการในการควบคุมสถานการณ์การระบาดในวงกว้าง คือชุดตรวจ ATK จะต้องมีการทดสอบที่รวดเร็ว, การทดสอบที่ให้ผลถูกต้อง, การทดสอบที่มีศักยภาพสูงในการใช้งานภาคสนาม, การทดสอบที่ราคาไม่แพง, การทดสอบที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือสลับซับซ้อน และการทดสอบที่ไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะความชำนาญสูงมากนัก
อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโดยใช้ชุดตรวจ ATK ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาการได้รับเชื้อ (Time from onset of infection), คุณภาพของกระบวนการเก็บสิ่งส่งตรวจ (เก็บเอง,ได้รับการฝึกฝน หรือบุคลากรทางการแพทย์เก็บให้), ปริมาณเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในสิ่งส่งตรวจ (ตัวอย่างหลังโพรงจมูก, ตัวอย่างจากโพรงจมูก, น้ำลาย) รวมถึงคุณภาพของน้ำยาที่ใช้ในการตรวจ การเก็บรักษา และความคงทน
ดังนั้น อย.จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลชุดตรวจ ATK เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน โดยมีการกำกับดูแลก่อนออกสู่ตลาด เพื่อประเมินและรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด และการกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด โดยการตรวจติดตามและการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด
สำหรับการประเมินข้อมูลเอกสารการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากผู้ผลิตชุดตรวจ ATK โดยอย. และผู้เชี่ยวชาญ จะต้องมีกระบวนการ ดังนี้ 1.ส่งคำขอขึ้นทะเบียน 2.เอกสารรายละเอียดเครื่องมือแพทย์ 3.รายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ครอบคลุมหัวข้อ Analytical and Clinical studies และ Stability studies 4.รายงานผลทดสอบในประเทศไทย 5.ฉลากและเอกสารกำกับ และ 6. กรณีชุดตรวจสำหรับประชาชนทั่วไป (Home use) ต้องมีฉลากและเอกสารกำกับพร้อมข้อแนะนำ (Quick Guide) ที่เป็นภาษาไทย
นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการใช้ชุดตรวจ ATK ว่า จะมีการนำมาใช้สำหรับตรวจคัดกรองในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ปิดอย่างร้านอาหาร ร้านตัดผม, โรงเรียนมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัย, พื้นที่ที่ลูกจ้างอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นชุมชน เช่นตลาด โรงงาน เป็นต้น และพื้นที่ที่มีลูกจ้างติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากขึ้น ต่อเมื่อสถานที่ที่ยังมีการปฏิบัติงานจะมีความเสี่ยงสูง หรือลูกจ้างคนอื่น ๆ จะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ และสถานที่นั้นอาจจะเข้าถึงการรักษาได้ช้า เช่น ในห้างสรรพสินค้า
โดยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง มีประเด็นที่ต้องตรวจสอบเป็นประจำ คือ 1.อาการ 2.อุณหภูมิร่างกาย และ 3.ความเสี่ยงในการสัมผัสหรือการติดต่อ หากเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำในระดับน้อย จะต้องเข้าสู่พื้นที่คัดกรองเดี่ยว แต่หากความเสี่ยงต่ำในระดับปานกลาง จะต้องเข้าสู่พื้นที่คัดกรอง และทำ Serial Test 1 ครั้ง/สัปดาห์ และหากความเสี่ยงต่ำในระดับค่อนข้างสูง จะต้องเข้าสู่พื้นที่คัดกรอง และทำ Serial Test 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ทั้งนี้ หากเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องตรวจ ATK หากผลเป็นบวกต้องทำการวินิจฉัย หรือยืนยันผลด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรม (NATT) หากผลตรวจ ATK เป็นลบ เพื่อความปลอดภัยจะต้องแยกตัวไว้ก่อน และหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ จะต้องมีการทดสอบซ้ำอีกครั้ง