นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้ฝนที่ตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบน ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนช่วงนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วม
นอกจากนี้ยังกำชับให้ติดตาม และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เครื่องจักรเครื่องมือต้องพร้อมใช้งาน รวมถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ เพื่อสร้างการรับรู้เชิงพื้นที่ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด โดยเฉพาะการบูรณาการการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน (7 ก.ย. 64) ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 983 ลูกบาศก์เมตร/วินาที(ลบ.ม./วินาที) สมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง อีกประมาณ 62 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 700 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงบริเวณ ต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานได้ประสานไปจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว
สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ วันที่ 6 ก.ย. 64 มีปริมาณน้ำรวมกัน 40,608 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 16,679 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 35,459 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,777 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างรวมกัน ยังคงรับน้ำได้อีก 16,046 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานยังคงเดินหน้าเก็บกักน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน