นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า วันที่ 16 ก.ย.นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ชุด ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี การใช้ชุดตรวจ ATK จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้ เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จึงจะเข้ามามีบทบาทในการให้คำแนะนำการใช้ชุดตรวจ ATK แก่ประชาชน ดังนี้
1. มีการเตรียมพร้อม อสม. ด้วยการฝึกอบรมขั้นตอน วิธีใช้ ATK วิธีการแปลผล และการกำจัดชุดตรวจที่ใช้แล้ว โดย สบส. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะให้คำแนะนำวิธีการใช้งานเบื้องต้นผ่านการประชุมของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center-EOC) ประธานชมรม อสม.ทุกจังหวัด รวมทั้งได้จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม "อสม. พร้อม บอกต่อเรื่อง ATK" และชุดสื่อความรู้สำหรับ อสม.
2. แนะนำกลุ่มเป้าหมายที่ต้องตรวจ ATK คือ
2.1 ผู้ที่มีอาการต้องสงสัย เช่น มีไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป, มีอาการไอ, มีน้ำมูก, เจ็บคอ, ไม่ใด้กลิ่น, ลิ้นไม่รับรส, หายใจเร็ว, หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก, ตาแดง, มีผื่น หรือถ่ายเหลว
2.2 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทั้งที่มีอาการหรือไม่มีอาการ โดยควรมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหลังจากมีประวัติสัมผัสโรค 3-5 วัน
3. ให้คำแนะนำประชาชน ทั้งวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK วิธีแปลผล วิธีการกำจัดชุดตรวจที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อ และแนะนำการปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention-UP)
4. รายงานผลให้เจ้าหน้าที่ทราบ หากผลเป็นลบ ให้ติดตามสังเกตอาการ แต่หากผลเป็นบวก ให้ส่งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่ระบบและรักษาตามอาการ ทั้งในโรงพยาบาล, การทำ Community Isolation (CI) และการทำ Home Isolation (HI)
นอกจากนี้ สธ. ยังมีนโยบายที่จะให้คนไทยสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ เนื่องจากโรคโควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่น อสม.จึงเข้ามามีบทบาทกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) คือการจัดทำ "ตำบลจัดการโควิด-19 เข้มแข็ง" ผ่านกลไกการทำงานของทีมแพทย์ 3 คน คือ อสม.แพทย์ประจำตัว, แพทย์สาธารณสุข และแพทย์ครอบครัว ซึ่งจะเป็นทีมที่ขับเคลื่อนตำบลในการสร้างความตระหนักตาม 5 มาตรการ SCMA (Strong COVID-19 Management Area)
โดยรายละเอียดมาตรการมีดังนี้ 1. ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention-UP) อย่างเคร่งครัด และต่อเนื่อง 2. จัดการสิ่งแวดล้อมป้องกันโควิด-19 3. เฝ้าระวัง คัดกรอง และตรวจ ATK ในกลุ่มเสี่ยง 4. เชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมเป้าหมายที่ สธ.กำหนดไว้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และ 5. จัดทำระบบบริหารจัดการและเฝ้าระวังควบคุมโควิด-19
ทั้งนี้ เป้าหมายของ สธ. คือ ทุกตำบลต้องมีการดำเนินการ "ตำบลจัดการโควิด-19 เข้มแข็ง" โดยหากมีเป้าหมายในการทำแซนด์บอกซ์ ต้องสามารถปฎิบัติได้อย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ อำเภอละอย่างน้อย 1 ตำบล เพื่อเป็น COVID Safe ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าออกได้
"หลักการ UP จะทำให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้ และสามารถเดินหน้าทางเศรษฐกิจ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ ถ้าหากประชาชนอยากให้ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการ ต้องเข้มงวดกับการป้องกันตนเองมากขึ้น ถ้าตำบลไหนสามารถดำเนินการตามมาตรการ "ตำบลจัดการโควิด-19 เข้มแข็ง" และมีผู้ติดเชื้อลดลง หรือไม่มีผู้ติดเชื้อได้ จะปรับเป็นธงเขียว หรือตำบลที่ปลอดภัยจากโควิด-19" นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ที่ผ่านมาของ อสม.ว่า ได้รณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน ทั้งหมด 4,800,059 ราย นอกจากนี้ ได้ติดตามกลุ่มเป้าหมายกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) จำนวน 3,419,961 ราย ให้ได้รับวัคซีนแล้ว 1,091,954 ราย คิดเป็นสัดส่วน 31.93% นอกจากนี้ ได้ร่วมกับทีม 3 แพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใน CI จำนวน 4,900 แห่ง และ HI อีก 26,513 ราย รวมทั้งอสม. ยังมีหน้าที่ในการเฝ้าระวังแรงงานกลับบ้าน และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงด้วย