น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แนวทางการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีมติเห็นชอบการให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ด้วยความยินยอมของผู้ปกครอง โดยจะเริ่มภายในเดือนต.ค.นี้
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) หรือเทียบเท่า โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช/ปวส.) หรือเทียบเท่า ถัดไปจะจัดสรรวัคซีนสำหรับระดับชั้นอื่น ๆ ที่เหลือ โดยรูปแบบการให้บริการ จะเป็นการให้บริการผ่านสถานศึกษาที่มีผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปกำลังศึกษาอยู่
โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เร่งให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำรวจกลุ่มเป้าหมาย จัดทำแผนจัดสรร กำหนดช่วงเวลาเข้ารับวัคซีน และประสานสถานศึกษาเพื่อนำนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องชี้แจงผู้ปกครองเพื่อขอความยินยอมในการรับวัคซีน และจัดส่งใบยินยอม และแจ้งจำนวนนักเรียนที่จะเข้ารับวัคซีน ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนด้วย
สำหรับสถาบันการศึกษาที่นักเรียน/นักศึกษา มีอายุเกิน 18 ปี ก็สามารถให้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้โดยอนุโลม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งดำเนินการฉีดให้เร็วและครอบคลุมที่สุด เพื่อรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564
*กทม.เริ่มฉีดไฟเซอร์เข็มแรกแก่เด็กกลุ่มเสี่ยง 21 ก.ย.
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยง และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ทุกสังกัดในพื้นที่กทม. ซึ่งแผนดังกล่าวครอบคลุมการจัดหน่วยสาธารณสุขเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการเตรียมตัว เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักเรียน จะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย โดยจะเริ่มการให้บริการฉีดวัคซีนแก่เด็ก ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.นี้เป็นต้นไป
"การฉีดวัคซีนแก่เด็กและเยาวชน จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ยึดความปลอดภัยของเด็ก ติดตามอาการหลังการได้รับวัคซีนด้วย จึงขอให้สถานศึกษาเร่งสร้างการรับรู้แก่เด็ก ผู้ปกครอง รวมทั้งบุคคลากรในโรงเรียน ถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับเข้าสู่การเรียนการสอนแบบ Onsite ได้" น.ส.รัชดา กล่าว