น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้านการปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.- 6 ก.ค.64 โดยพบ ประชาชนส่วนใหญ่ 81.5% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะอาชีพไม่เหมาะสมกับการทำงานที่บ้าน ส่วนปัญหาที่ประชาชนประสบในการทำงานที่บ้าน เช่น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี
ส่วนการเรียนออนไลน์พบ 42% มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่เรียนออนไลน์, 14.7% มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนออนไลน์ โดยปัญหาที่ประสบจากการเรียนออนไลน์ 5 อันดับแรกได้แก่ ไม่ค่อยเข้าใจในวิชาที่เรียน, ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, ไม่มีสมาธิ, สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี และอุปกรณ์ไม่ทันสมัย
สำหรับแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับโควิด-19 พบ 3 อันดับแรกคือ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านทุกครั้งและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่จำเป็น 95.4% ,นำเงินออมออกมาใช้จ่าย 32.6% โดยพบในกลุ่มอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น และกู้ยืมเงินหรือจำนำ ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ 22.8% โดยมีกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง กรรมกร ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
โดยเรื่องที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จัดหา WIFI ฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 66.7%, จัดหาอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนในราคาถูก 60%, จัดหาอินเตอร์เน็ตให้นักเรียน นักศึกษาฟรี 47.6%, จัดหาอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนในราคาถูก 42.2% และจัดให้มีสถานที่กลางในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน 33%
ส่วนเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ลดภาระค่าสาธารณูปโภค 67.3%, จ่ายเงินชดเชย เยียวยา 60.7% และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ 58.7%
ขณะที่โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ โครงการเราชนะ 76.2% ,โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 66.7%, มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า 65.4% ,โครงการคนละครึ่ง 61.2% และโครงการ ม.33 เรารักกัน 43.3%