พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลความสงบเรียบร้อย จากกรณีที่มีกลุ่มการเมืองนัดชุมนุมในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.64 ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการจัดกำลังให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านการข่าว ส่วนการปฏิบัติการนั้นจะเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ ไม่ได้มีมาตรการใดเป็นพิเศษเพิ่มเติม
สำหรับเมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) ได้มีการก่อเหตุวุ่นวายบริเวณแยกดินแดงเช่นเดิม โดยมีการก่อเหตุขว้างปาวัตถุระเบิด ทั้งระเบิดปิงปอง ระเบิดแสวงเครื่อง ไปป์บอมบ์ และพลุ เข้าใส่สถานที่ราชการและเอกชนในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งมีการจุดไฟเผา และโรยตะปูเรือใบ ซึ่งสร้างความเดืดอดร้อนให้กับประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 3 ราย เพื่อดำเนินคดีให้หลายข้อหา เช่น ร่วมสมคบกันเกิน 10 คน เพื่อก่อเหตุวุ่นวายในบ้านเมือง, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น
โดยตั้งแต่เดือน ก.ค.64 ได้มีการดำเนินคดีแล้ว 207 คดี ผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 770 ราย สามารถจับกุมตัวได้แล้ว 525 ราย ส่วนที่เหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งสืบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อดำเนินคดีต่อไป
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมในลักษณะคู่ขนานเหมือนที่กรุงเทพฯ มีขึ้นบางจังหวัด แต่ยังไม่พบการก่อเหตุสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองเหมือนในที่แยกดินแดง โดยภาพรวมทั่วประเทศ มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมแล้วกว่า 800 คดี อยู่ในความรับผิดชอบของ บช.น.จำนวน 400 คดี
ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ครึ่งหนึ่งของผู้ก่อเหตุในกรุงเทพฯ 770 ราย เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกผู้ปกครองมาสอบสวนปากคำด้วย และขอฝากให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยให้การก่อเหตุบรรเทาลง ส่วนผลกระทบที่เกิดกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณแยกดินแดงนั้น ได้มีการเข้าไปพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ขณะที่พล.ต.ท.ภัครพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ที่บริเวณแยกดินแดงเป็นการปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งหากการชุมนุม ทำให้เกิดอันตราย กับเจ้าหน้าที่ และประชาชนบริเวณใกล้เคียง ใช้อาวุธต่างๆ เผาทำลายทรัพย์สิน ของราชการและส่วนรวมนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าบังคับใช้กฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ใช้เพียงเครื่องมือที่ได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่ถึงแก่ชีวิต และมีขั้นตอนการปฎิบัติหน้าที่อยู่แล้ว หากผู้ใดได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหาย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ก็สามารถใช้สิทธิ ดำเนินการตามกฏหมายได้ เจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะให้พิสูจน์ทราบข้อเท็จว่าการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ส่วนการปิดถนนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ที่มีการชุมนุมนั้น ทางเจ้าหน้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการปิดการจราจร เนื่องจากประชาชนยังคงต้องใช้ถนนในบริเวณดังกล่าวสัญจรไปมา ถึงแม้จะเป็นห้วงเวลาเคอร์ฟิวก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีการตั้งจุดตรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย