พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตรวจติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียมและศนูย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) โครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนี้ 1. ความคืบหน้าโครงการ THEOS-2 และการพัฒนาดาวเทียมระดับ Industrial grade โดยวิศวกรไทย ณ ศูนย์ทดสอบประกอบดาวเทียมแห่งชาติ 2. การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) จากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO satellite network) และ 3. การนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ
นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินงานและขอให้พัฒนาต่อไป และให้นำเทคโนโลยีมาช่วยประมวลผล ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล นำพาประเทศเดินหน้าพัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนตลอดไป โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับโครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) เป็นสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ GISTDA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ภายในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการทางด้านอวกาศ
ภาพรวมของโครงการฯ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเ พื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs และระดับอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาธุรกิจบนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระดับภูมิภาค และเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และระบบนวัตกรรม เพื่อให้รองรับการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นที่ให้หน่วยงานภาคเอกชนเข้าทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พร้อมกับให้บริการอันเป็นการสนับสนุนการวิจัยให้เกิดผลเชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
ปัจจุบัน อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ดำเนินโครงการลงทุนสถานีดาวเทียมจากต่างประเทศ โดยเริ่มมีการลงทุนในด้านธุรกิจอวกาศของบริษัทต่างประเทศบนพื้นที่ SKP แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อนโยบายและศักยภาพด้านอวกาศของไทยในพื้นที่ EEC เพื่อหวังจะให้พื้นที่ EEC เป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวกับอวกาศ
พร้อมทั้งสร้างให้เป็นจุดศูนย์รวมในการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาค และยังช่วยผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global value chains ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม