นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งเป้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่เด็กอายุ 12-17 ปี อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านคน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนจากสถานศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 2/64 โดยคาดว่าเด็กจะได้รับวัคซีนในวันที่ 4 ต.ค. นี้ โดยเบื้องต้นเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ จะจัดสรรการฉีดวัคซีนให้ตามชั้นเรียนก่อน ทั้งนี้สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถปรับให้สอดคล้องกับนักเรียนได้ เช่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 18 ปี สามารถอนุโลมให้ได้รับวัคซีนได้เช่นกัน
สำหรับแผนการดำเนินงานการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียน นักศึกษาชั้นมัธยม หรือเทียบเท่า มีดังนี้
- วันที่ 13-26 ก.ย. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือกระทรวงต้นสังกัดของสถานศึกษาอื่นๆ แจ้งแต่ละสถานศึกษาให้สำรวจนักเรียนที่ผู้ปกครองประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์
- วันที่ 20-26 ก.ย. สถานศึกษาชี้แจงผู้ปกครอง พร้อมส่งเอกสารคำแนะนำ และแบบแสดงความประสงค์ให้นักเรียนรับวัคซีนไฟเซอร์ และรวบรวมเอกสารกลับภายใน 1 สัปดาห์
- วันที่ 20 ก.ย.-3 ต.ค. สถานศึกษาแจ้งจำนวนนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนไปยังศึกษาธิการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดสถานพยาบาลคู่ปฏิบัติกับสถานศึกษาจุดบริการฉีดวัคซีน รวมทั้งจำนวนผู้รับบริการให้สอดคล้องกับแผนวัคซีนของกรมควบคุมโรค
- วันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค. กรมควบคุมโรคแจ้งแผนการส่งวัคซีนไฟเซอร์แยกรายสัปดาห์ให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร จะแจ้งสถานที่และจำนวนวัคซีนที่จะให้จัดส่งไปยังกรมควบคุมโรคให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่จังหวัดจะได้รับในแต่ละสัปดาห์
- วันที่ 4-24 ต.ค. ก่อนนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้สถานพยาบาลตรวจสอบเอกสารแสดงความประสงค์ที่ผู้ปกครองลงนามแล้ว จากนั้นทำการฉีดวัดซีน และสังเกตอาการ รวมทั้งนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 และลงข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลางของสธ. (MOPH IC) พร้อมเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน (AEFI) ให้ครบ 30 วัน
- วันที่ 25 ต.ค.-8 พ.ย. นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พร้อมรับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และให้สถานพยาบาลลงข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลางของสธ. (MOPH IC) พร้อมเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน (AEFI) ให้ครบ 30 วัน
- วันที่ 9-15 พ.ย. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร ส่งข้อมูลสรุปผลบริการการฉีดวัคซีนในนักเรียนไปยังกรมควบคุมโรค
ทั้งนี้แผนการดำเนินงานทั้งหมดนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และจำนวนวัคซีนที่ได้รับมอบ ในส่วนของเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เช่นการศึกษาพิเศษโฮมสคูล สามารถขอขึ้นทะเบียนรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัวนั้นสามารถรับวัคซีนได้จากสถานพยาบาลที่รักษาได้
สำหรับชนิดของวัคซีนที่ใช้สำหรับเด็ก ช่วงแรกจะเป็นวัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจากในเดือนต.ค. ประเทศไทยจะได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 30 ล้านโดส อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับขึ้นทะเบียนวัคซีนเชื้อตายในประเทศไทย ทั้งวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์มกับองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อให้สามารถใช้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้เหมือนประเทศจีน
"ผู้ปกครองที่มีความกังวลในวัคซีนชนิด mRNA สามารถให้เด็กรอวัคซีนเชื้อตายได้ แต่อาจต้องรอวัคซีน และใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้การรับรอง ทั้งนี้วัคซีนไฟเซอร์ที่จะใช้ฉีดให้เด็กมีความปลอดภัย โดยจากสถิติพบว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้น้อยมาก และในไทยขณะนี้พบเพียง 1 รายเท่านั้น และสามารถรักษาให้หายได้ รวมทั้งทางกรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือแนวทางการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก รวมถึงข้อมูลเรื่องโรคดังกล่าวไว้ให้ผู้ปกครองศึกษาก่อนตัดสินใจให้เด็กฉีดวัคซีนแล้ว" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงแนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ว่า เริ่มลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันยังอยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.16% เมื่อเทียบกับอัตราเสียชีวิตของต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 2% ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นในช่วงต่อจากนี้ แนวทางการบริหารคือการป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ และดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายและรอดชีวิตมากที่สุด รวมทั้งจะมีการตรวจคัดกรองมากขึ้นทั้งในระบบสุขภาพ และการคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK)