นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาแล้ว 3 สัปดาห์นั้น สถานการณ์โดยรวมเริ่มคลายตัว จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจก็มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จากช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ แนวทางในการรักษาระดับที่ลดลงเรื่อยๆ นั้นขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน และผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานทุกภาคส่วนในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และการปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention-UP) และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
"โควิด-19 เป็นบททดสอบที่ประชาชนต้องก้าวผ่านไปให้ได้ ประชาชนทุกคนต้องเข้าใจใน Covid Free Setting และต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารทุกครั้ง ขณะนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ได้" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ของโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากในช่วงนี้จำนวนผู้ป่วยป่วยโควิด-19 มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นรายต่อวัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถผ่อนคลายได้บ้าง ในขณะที่ทีมผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางแผนเตรียมแนวทางปฎิบัติเมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือลดลง เช่น การบริหารเตียง เป็นต้น
ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนี้ ถือว่าเป็นจำนวนที่บุคลากรทางการแพทย์ยังสามารถรับไหว แต่อยากให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมากกว่านี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับการรักษาผู้ป่วยโรคอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. หากสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมาได้อยู่ที่ 500 รายต่อวัน จะสามารถกลับมาบริหารกิจการของโรงพยาบาลได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด อย่างไรก็ดี จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับยุค New Normal เช่นการนำ Telemedicine หรือการรักษาทางไกล มาใช้ประมาณ 50-60% เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาล
นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีการเปิดรับรักษาผู้ป่วยทั่วไปมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้รับวัคซีน คัดกรองความเสี่ยง และตรวจหาเชื้อโควิด-19 อยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ในขณะเดียวกัน ก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนไปรับวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมทั้งมีการคัดกรองความเสี่ยงผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลด้วย เพื่อความปลอดภัยของทั้งสองฝ่าย
"ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ป่วยโรคอื่นๆ เสียชีวิตคาบ้าน เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านั้น ไม่กล้าเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวติดเชื้อ ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง จึงมีความจำเป็นต้องเปิดรับรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ บ้าง" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว