นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ยอมรับว่า มีหน่วยงานเสนอแผนเปิดประเทศเข้ามา แต่ต้องอยู่ที่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยหน่วยงานดังกล่าวจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจหากมีผู้สอบถาม ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณา คือการให้บริการวัคซีนให้บรรลุตามเป้าที่กำหนดไว้ โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการกระจายวัคซีนตามแผนแล้ว เมื่อไปถึงพื้นที่ก็ต้องเร่งฉีดให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดส ตามกำหนดจะส่งมาในเดือน ก.ย.64 จำนวน 9 ล้านโดส และเดือน ต.ค.64 อีก 3 ล้านโดส ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเป็นสูตร SA คือ เข็มที่ 1 ซิโนแวค และเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า เพื่อร่นเวลาการรับเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ การฉีดวัคซีนสูตรนี้ นอกจากสามารถฉีดเข็ม 2 ได้เร็ว และภูมิต้านทานยังขึ้นสูงอีกด้วย ตามการคาดหมายนั้นสิ้นเดือน ต.ค.64 จะต้องฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 ให้ครบตามเป้า 70% ของประชากร และอีกไม่เกิน 8 สัปดาห์ ก็จะได้รับเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้าครบถ้วน ภาพรวมประเทศไทยจะฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงอย่างช้าที่สุดคือ เดือน พ.ย.64
ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ตจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ใต้ผิวหนังนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ก่อนที่จะดำเนินการอะไร ทางคณะแพทย์ต้องศึกษามาดีแล้ว มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ เช่นเดียวกับการให้บริการวัคซีนแก่เด็กก็ต้องผ่านชั้นพิจารณาของคณะแพทย์ ซึ่งมิใช่เพียงแพทย์ของกระทรวงฯ แต่ยังมีอาจารย์แพทย์ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มาช่วยกันพิจารณาอีกด้วย การให้บริการต้องอยู่บนฐานของความปลอดภัย
"สำหรับการที่ผู้ปกครองบางท่าน ต้องการให้บุตรหลานได้รับวัคซีนเชื้อตาย ตรงนี้ ภาครัฐเข้าใจความกังวล แต่การที่เด็กจะได้รับวัคซีนเชื้อตาย จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ผลิตวัคซีนได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย. ให้สามารถบริการแก่เด็กได้" นายอนุทินกล่าว