นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอความเห็นชอบ แนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ต้องขังจำนวนมาก หากเราจะแก้ปัญหาไม่ให้ผู้พ้นโทษกลับไปทำผิดซ้ำ เราจะต้องสร้างงานสร้างอาชีพให้พวกเขา เพราะการกระทำผิดซ้ำส่วนใหญ่เกิดจากการไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ หากเราสร้างงานให้พวกเขามีงานมีเงิน โอกาสการทำผิดซ้ำจะลดลง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดพยายามหาทาง เช่น ให้สิทธิทางภาษีกับผู้จ้างงานให้กับผู้พ้นโทษแต่ก็ยังทำได้ไม่มาก ตนจึงคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยเราจะส่งแรงงานที่เป็นผู้พักโทษ ในรูปแบบที่ไม่ติดกฎเกณฑ์สังคมโลก
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากมีนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ใช้แรงงานผู้พักโทษโดยไม่ผิดระเบียบแรงงานสากล จะช่วยรัฐแก้ปัญหาได้ในหลายรูปแบบ แต่ภายในนิคมฯ จะไม่ได้ใช้แรงงานจากกรมราชทัณฑ์ทั้งหมด จะใช้เป็นตัวเลือก นอกจากนี้จะสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุน โดยรัฐไม่ต้องเสียงบประมาณ แต่จะใช้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับนิคมฯอื่นๆ โดยเราตั้งเป้าที่จะส่งแรงงาน 16,000 คน ออกไปทำงาน โดยจะสามารถช่วยลดงบประมาณได้มากถึง 336 ล้านบาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อผู้ต้องขัง 1 คนอยู่ที่ 21,000 บาท และจะประหยัดงบการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่เพื่อลดความแออัดได้ 1,500 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งหากจะให้รับผู้ต้องขังเพียงพอเราต้องสร้าง 4-5 แห่ง และจะสร้างรายได้เข้าสู่เศรษฐกิจได้อีก 1,933 ล้านบาทต่อปี
"ขณะนี้เรามีโครงการนำร่อง สมุทรปราการโมเดล ซึ่งเรือนจำกลางสมุทรปราการได้คัดเลือกผู้พักโทษส่งให้กับบริษัทเดลต้า ประเทศไทย แล้ว 540 คน แต่ในช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด จึงทำให้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีโรงงานอีก 5 แห่งที่สนใจรับแรงงานจากเราและจองตัวไว้แล้ว ซึ่งหากโครงการนิคมราชทัณฑ์ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. จะช่วยแก้ปัญหาได้มากมาย ทั้งคนล้นคุก การกระทำผิดซ้ำ และปัญหาด้านแรงงาน"นายสมศักดิ์ กล่าว