พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัตน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีนโยบายให้ สตช. แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันประชาชนเกิดความสงสัยมีข้อคำถามว่าถูกแฮกข้อมูลจากกรณีที่ได้รับ SMS แนบลิงก์ทางโทรศัพท์มือถือหรือไม่ และควรปฏิบัติตนอย่างไร
โดย SMS ดังกล่าวมักจะปรากฏข้อความแนบลิงก์ เช่น มีเงินเข้าบัญชี, ได้รับสิทธิฉีดวัคซีน, ได้รับบัตรกำนัล, ได้รับสิทธิสินเชื่อ, ลุ้นรับรางวัล เล่นเกมง่ายๆ ได้ 1 ล้าน เป็นต้น เมื่อกดลิงก์เข้าไปดู มักจะพบว่าจะเป็น 3 ลักษณะ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน ได้แก่ 1.แอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ ที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และมีการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมาย 2.เว็บไซต์พนันออนไลน์ ที่จะพยายามโน้มน้าวชักชวนให้เข้าเล่นการพนัน 3.หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว รหัส เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในทางทุจริต เช่น แฮกข้อมูล แฮกบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ แฮกบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต
"ประชาชนที่ได้รับ SMS ในลักษณะดังกล่าว และยังไม่ได้กดลิงก์ที่ได้รับ หรือกดลิงก์แล้ว แต่ยังไม่ได้กรอกข้อมูลหรือดำเนินการใด ๆ ข้อมูลจะยังไม่ถูกแฮก หรือได้รับความเสียหายใดๆ จนกว่าจะกดลิงก์ที่ได้รับมาทาง SMS และกรอกข้อมูลสำคัญในลิงก์ที่แนบมา เช่น ข้อมูลส่วนตัว อีเมล รหัสผ่านบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรเครดิต พร้อมหมายเลขรหัสหลังบัตร กดอนุญาตให้มีการเข้าถึงข้อมูล การสมัครกู้เงินหรือเล่นการพนัน" พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สตช. ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวัง และตั้งสติ ไม่ควรกดลิงก์แปลกๆ ที่แนบมากับ SMS หรือก่อนที่จะกดลิงก์ใด ๆ ก็ตามที่ได้รับทาง SMS ขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนที่จะกรอกข้อมูลในลิงก์ดังกล่าว และไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ หรือเข้าร่วมเล่นการพนันออนไลน์ตามลิงก์ที่มากับ SMS
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือมายังประชาชน หากพบเห็น SMS ในลักษณะดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีมิจฉาชีพฉวยโอกาสแอบแฝงตัวมากับการจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตน มาตรา 33 ว่า ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและองค์กรต่างๆ ทางรัฐบาลจึงได้มีโครงการในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นเงินจำนวน 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน ครั้งที่ 2 จะเริ่มโอนเข้าบัญชีในวันที่ 27-28 ก.ย.64 จึงอาจมีเหล่ามิจฉาชีพที่อาศัยช่องว่างดังกล่าวในการกระทำความผิด
โดยอาจจะมาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือการส่ง SMS ทางโทรศัพท์มือถือ หรือลิงก์ต่างๆ ที่มีลักษณะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขบัตรเครดิต หรือให้ใส่รหัส OTP เป็นต้น เมื่อได้ใส่ข้อมูลลักษณะดังกล่าวไปแล้วเหล่ามิจฉาชีพก็อาจจะนำข้อมูลที่ได้ไปหาประโยชน์ในทางมิชอบ และทำให้ได้รับความเสียหายในอนาคต จึงขอให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองให้ชัดเจน และปฏิบัติตามขั้นตอนที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยในเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้สั่งการให้ ผบ.ตร.ขับเคลื่อนนโยบาย โดยการสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยให้ทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
"อย่าหลงเชื่อข้อมูลการโพสต์ หรือลิงก์ที่แนบมาพร้อมกับ SMS ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ไป ห้ามเปิดลิงก์ดังกล่าวอย่างเด็ดขาดและห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผ่านระบบออนไลน์ หากพบข้อความที่น่าสงสัย ให้สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเสียก่อน ในกรณีหลงเชื่อไปแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร สถาบันทางการเงิน" รองโฆษก ตร.กล่าว