(เพิ่มเติม) ศบค.ขยายฉุกเฉินฯ,ปรับเวลาเปิดห้าง-ร้านสะดวกซื้อ-เคอร์ฟิว,เปิด 10 จ.ท่องเที่ยว

ข่าวทั่วไป Monday September 27, 2021 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด/สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้

(1.) เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64

1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เปิดดำเนินการได้แต่ต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย

2.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ

3.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาณ

4.ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมหรือหอศิลป์ เปิดได้จำกัดจำนวน เช่น 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หรือให้เข้าชมได้ไม่เกิน 75% ตามกำหนด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาห้ามรับประทานอาหาร และเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข

5.ร้านทำเล็บ เปิดดำเนินการได้แต่ต้องนัดหมาย

6.ร้านสัก เปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้า ลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง

7.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (นวด สปา)เปิดดำเนินการได้ โดยนัดหมายล่วงหน้าจำกัดเวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน แต่ยังไม่เปิดบริการอบไอน้ำ สามารถเปิดบริการที่ใช้น้ำ เพื่อสุขภาพในกิจการสปาภายใต้พระราชบัญญัติประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 และลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง

8.ธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือฉายภาพยนตร์ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือลดจำนวนเหลือประมาณ 50% สวมหน้ากากตลอดเวลา และไม่รับประทานอาหาร

9.การเล่นดนตรีในร้านอาหารเปิดดำเนินการได้ จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คน นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา นักร้องถอดหน้ากากอนามัย เฉพาะเวลาร้องเพลง หรือแสดง ห้ามสัมผัสคลุกคลีกันระหว่างนักร้อง นักดนตรีและลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศ รวมทั้งการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ Covid Free Setting

10.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ยังไม่เปิดดำเนินการ ให้มีการติดตามสถานการณ์ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่ และมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก โดยทุกกิจกรรมและกิจการให้เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ส่วนการแสดงมหรสพ นายกฯ ให้ รมว.วัฒนธรรม ไปพิจารณาในรายละเอียด เพื่อให้กำหนดมาตรการให้สามารถประกอบกิจการและกิจกรรมได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอการปรับเงื่อนไขมาตรการ สำหรับกิจการและกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ประกอบด้วย

1. การห้ามออกนอกเคหสถาน มาตรการเดิมเวลา 21.00-04.00 น. ปรับลดเป็นเวลา 22.00-04.00 น. อย่างน้อย 15 วัน

2.ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า เดิมเปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น. ปรับเป็นเปิดบริการได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้เปิดสถาบันกวดวิชาได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ รวมถึงให้เปิดโรงภาพยนตร์ สปา ห้องออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำได้ ตามแนวทางที่กำหนด แต่ยังไม่เปิดดำเนินการตู้เกมเครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ ห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยง

3.ร้านสะดวกซื้อตลาดสดหรือตลาดนัด (เฉพาะจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค) เดิมเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. ปรับเป็นเปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น.

4. ประเภทกีฬากลางแจ้ง หรือในร่มที่เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ หรือประเภทกีฬาในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศ มาตรการเดิม ประเภทกีฬากลางแจ้งหรือในร่มที่เป็นที่โล่งไม่มีระบบปรับอากาศ เปิดไม่เกินเวลา 20.00 น. ส่วนประเภทกีฬาในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศยังไม่เปิดดำเนินการ รวมถึงสามารถใช้สนามกีฬาทุกประเภทเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาได้ ปรับเป็นเปิดดำเนินการได้ทุกประเภทกีฬา ไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดสถานที่และประเภทกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่มจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชม

ส่วนกรณีประเภทกีฬากลางแจ้งจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมไม่เกิน 25% ของความจุสนาม ผู้ชมได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ กรณีมีการแข่งขันให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ยังคงระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยไว้ตามเดิม คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด นอกจากนี้ ศบค.ยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราว ที่ 14 ประกอบกับสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในงานประเพณี เช่น งานศพและในสถานประกอบการโรงงาน แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยจะยังคงที่ แต่อัตราการเสียชีวิตอย่างน่าเป็นห่วงประกอบกับมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ 4 สายพันธุ์ที่ยังไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นมาตรการทางด้านสาธารณสุขในการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชาชน ทั้งการเดินทางเข้าประเทศและเดินทางในประเทศยังคงมีความจำเป็น

(2) การปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.มีมติเห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยการปรับลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ได้รับการกักกันในสถานที่กักกันทุกรูปแบบ ทุกประเภท รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวหรืออื่นๆ ตามนโยบายของรัฐโดยเริ่มวันที่ 1 ต.ค.64 ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1.มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) ครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยทุกช่องทาง แต่กรณีเดินทางทางน้ำต้องมีการรับรองการฉีดวัคซีนทุกคน โดยลดเวลากักตัวหรือเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วัน และจะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง โดยครั้งแรกวันแรกที่มาถึง (0-1) และครั้งที่สอง (6-7)

2.ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccine Certificate) หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ แบ่งเป็น เดินทางมาทางอากาศ และเดินทางทางน้ำ (กรณีมีคนใดคนหนึ่งบนเรือไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน) ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และจะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง โดยครั้งแรกวันแรกที่มาถึง (0-1) และครั้งที่สอง (8-9) และเดินทางทางบก เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ ให้กักตัวคงเดิม 14 วัน จะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้งโดยครั้งแรกวันแรกที่มาถึง (0-1) และครั้งที่สอง (12-13)

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การปรับมาตรการสำหรับการทำกิจกรรมในสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนด โดยสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) มีการปรับให้มีการออกกำลังกายกลางแจ้ง การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน (กรณีมีสถานที่ที่มีลักษณะปิดและควบคุมได้) การสั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก รวมถึงการประชุมสำหรับสำหรับนักธุรกิจเข้ามาในระยะสั้น

ขณะที่สถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และสถานกักกันโรคของหน่วยงาน (OQ) สำหรับบุคลากรของหน่วยงานที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ปรับมาตรการให้สามารถออกกำลังกายกลางแจ้ง และสั่งซื้ออาหารจากภายนอกและสั่งซื้อสินค้าได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.เห็นชอบจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในแต่ละระยะ (สีฟ้า) ระยะนำร่องวันที่ 1-31 ต.ค.64 เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบด้วย 4 จังหวัด และพื้นที่เกาะ ดำเนินการในพื้นที่นำร่องเดิมที่ดำเนินการ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค.64 ที่มีจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงันเกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก)

ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พ.ย.64 เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้ จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 10 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพฯ กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) และบุรีรัมย์ (อำเภอเมือง)

ระยะที่ 2 วันที่ 1-30 ธ.ค.64 เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยมีสินค้าการท่องเที่ยว ด้านศิลปะวัฒนธรรม และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 20 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส

ระยะที่ 3 วันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 13 จังหวัด ประกอบด้วย สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการการป้องกันควบคุม โควิด-19 สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) เพื่อให้มีแรงจูงใจสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการป้องกันการควบคุมโรคสามารถปรับมาตรการให้เป็นไปตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรตามพื้นที่เฝ้าระวังได้ แต่ยังคงปิดสถานบริการ และสถานบันเทิง รวมถึงสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกัน และการจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบขยายระยะเวลาการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa หรือ STV โดยเห็นชอบขยายระยะเวลาต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 - 30 ก.ย.65 โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ การเปิดนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ STV และเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช)

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. รับทราบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านระบบข้อมูลสารสนเทศและแอปพลิเคชั่น และการใช้แอปพลิเคชั่น เพื่อรองรับการเดินทางเข้าประเทศ และแซนด์บ็อกซ์ทั่วประเทศ หลังวันที่ 1 ต.ค.64 ซึ่ง ผอ.ศบค.ได้ลงนามไปแล้ว พร้อมเน้นย้ำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่ากระบวนการขั้นตอนต่างๆ สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาในประเทศไทยขอให้มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก และใช้ระบบฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ดูแลทั้งในเรื่องของสุขภาพ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ