นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบันของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 50,982 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถรับน้ำได้อีกรวม 25,140 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,659 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 5,963 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 12,212 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วรวม 15.16 ล้านไร่ คิดเป็น 90% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกไปแล้ว 6.97 ล้านไร่ คิดเป็น 87% ของแผนฯ
ขณะที่สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ในเกณฑ์ 2,666 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี ในอัตรา 392 ลบ.ม./วินาที โดยกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ด้วยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งรวม 376 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 2,784 ลบ.ม./วินาที
ประกอบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ อ.ลำสนธิ และ อ.ไชยบาดาล จ.ลพบุรี ส่งผลให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในอัตรา 1,207 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 2,950 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งได้ทำการแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณท้ายอ่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด