นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 12 โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พบว่าเขต 12 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,900 -2,000 รายต่อวัน จากไวรัสสายพันธุ์เดลตา สวนทางกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศที่เริ่มลดลง สาเหตุหลักจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในบ้านและชุมชน ไม่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่
ดังนั้น จึงได้เน้นย้ำให้พื้นที่เตรียมมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน ทั้งมาตรการส่วนบุคคล สื่อสารให้ประชาชนป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) มาตรการสังคม โดยใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ลดการรวมกลุ่ม, ตั้ง COVID-19 Free Setting Area, ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าถึงการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อจะได้ทราบผลเร็ว แยกผู้ป่วยออกจากชุมชนได้เร็ว และให้โรงพยาบาลเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการหนักทั้ง ICU โควิด, หอผู้ป่วยโควิด, ห้องความดันลบ, จัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนเพิ่มขึ้น และให้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และอาการน้อย เตรียมระบบ HI/CI ไว้รองรับหากมีจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต
โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ไปยังเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ 1,000,000 เม็ด, ชุดตรวจ ATK 20,000 ชุด, Oxygen concentrator 100 เครื่อง, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 25,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 100,000 โดส เพื่อรองรับการป้องกันควบคุมโรค และเตรียมการรักษาในพื้นที่
ด้านนพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายควบคุมสถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 12 ให้ได้ภายใน 1- 2 เดือน โดยลดจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 10% ต่อสัปดาห์
สำหรับการเตรียมการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ จังหวัดยะลามีเตียงรองรับในโรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง รวม 1,162 เตียง เป็นเตียงผู้ป่วยสีแดง 86 เตียง และผู้ป่วยสีเหลือง 1,076 เตียง มีโรงพยาบาลสนามแล้ว 9 แห่ง รวม 2,385 เตียง ส่วนจังหวัดปัตตานีมีเตียงผู้ป่วยโควิด 19 รวม 4,100 เตียง เป็นโรงพยาบาลชุมชน 647 เตียง โรงพยาบาลทั่วไป 216 เตียง ฮอสพิเทล 3 แห่ง 557 เตียง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง 58 เตียง โรงพยาบาลทหาร 1 แห่ง 10 เตียง และโรงพยาบาลสนามอำเภอ 2,612 เตียง โดยได้ยกระดับโรงพยาบาลสนาม ให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และให้ออกซิเจนได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบุษราคัม
สำหรับภาพรวมทั้งเขตสุขภาพ ขณะนี้ใช้เตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดงไปแล้ว 80% สีเหลืองและเขียว 70-80% คาดว่ายังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ และหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะสามารถส่งต่อและดูแลได้ภายในเขตสุขภาพ