นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 4/2564 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมให้ SME มีความเข้มแข็ง เดินหน้าสู่ปี 2565 ให้ได้ จะหาแนวทางช่วย SME ที่มีศักยภาพ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน เพื่อพลิกโฉมประเทศตามเป้าหมายระยะเวลาที่วางไว้
ทั้งนี้ รัฐบาลดูแลเรื่องงบประมาณในภาพรวมให้เพียงพออยู่แล้ว โดยมีการจัดกลุ่มคัดกรองและมาตรการที่เหมาะสม ได้แก่ 1. กลุ่ม SME เดิมที่มีความเข้มแข็ง หาก SME มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ ก็จะมีมาตรการเชิงภาษีให้ความช่วยเหลือกับ SME ในกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเร่งรัดเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่นำมาสู่การผลิตให้มีมากขึ้น 2. กลุ่ม SME ที่มีการดำรงสภาพการจ้างงาน มีรายได้พอเพียง แต่กำไรไม่มากนัก ต้องหาแนวทางให้ดำรงสภาพการจ้างงานต่อไปได้ 3. SME ที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ที่ต้องหาแนวทางช่วยเหลือส่งเสริม โดยรัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องโควิด การท่องเที่ยวและบริการ และจะพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด
ในที่ประชุม ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการจัดทำโครงการนำร่อง ONE ID และช่วยส่งเสริม SME ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการจัดทำ SME Big Data/SME Master Data และโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ ปี 2564 (One Identification One SME ? Phase I)
รวมทั้งที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งผลการขึ้นทะเบียน ณ 29 กันยายน 2564 SME 10 จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา ปทุมธานี สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น เชียงราย สมุทรปราการ โดย SME ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และวิสาหกิจชุมชน รวมประมาณ 1 แสนราย มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างรวม 551,306 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป ในปีงบประมาณ 2565 สสว.จะจัดให้มีโครงการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน สินค้า/บริการสำหรับผู้ประกอบการ SME และจะมีการต่อยอดมาตรการ/นโยบาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (corporate procurement) การลดหลักประกันสัญญา/หลักประกันซอง การเข้าถึงเงินทุน (สินเชื่อคู่ค้าภาครัฐ สินเชื่อแฟคตอริ่ง) การกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า และการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า