นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้มีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาไทยอีก 1.5 ล้านโดส เมื่อตรวจรับรองรุ่นการผลิตเรียบร้อย จะดำเนินการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ทันที และสัปดาห์หน้าวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ก็จะมีเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส ดังนั้น ช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะสามารถกระจายวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่นักเรียนได้ครบตามที่แจ้งความประสงค์ไว้
อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ผู้ปกครองเปลี่ยนใจ ต้องการให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม สามารถแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ เพื่อจัดสรรวัคซีนมาฉีดเพิ่มเติมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่เสียสิทธิแต่อย่างใด
"วันนี้โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี จัดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งแจ้งความประสงค์ฉีด 2,505 ราย จากนักเรียนทั้งหมด 2,929 ราย สามารถจัดฉีดได้ครบภายในวันเดียว ดำเนินการโดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ภาพรวมถือว่าเป็นไปด้วยดี ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจากเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 จนถึงขณะนี้สามารถฉีดได้ 29,047 คน ยังไม่พบรายงานอาการข้างเคียงรุนแรง ส่วนอาการไข้ อ่อนเพลีย เป็นอาการข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อรับวัคซีนแล้วขอให้พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และงดออกกำลังกาย รวมถึงยังต้องเข้มมาตรการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ ขอฝากครูช่วยจัดการเรียนการสอนแบบนิวนอร์มัล" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชากรทุกกลุ่มตามความสมัครใจ รวมถึงกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปวช. ปวส.หรือเทียบเท่า ที่มีประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศ เฉพาะพื้นที่ กทม. มีนักเรียนจำนวน 2.1 แสนคน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่
ขณะนี้ ประเทศไทยมีเพียงวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในกลุ่มอายุดังกล่าวได้ โดยผู้ปกครองแสดงความประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น รวมประมาณ 3.8 ล้านคน หรือเกือบ 80% กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสถานศึกษาทั่วประเทศ
สำหรับแนวทางการดูแลจิตใจเด็กและเยาวชนที่เข้ารับวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ก่อนการรับวัคซีน ต้องจัดการความกังวลของเด็กและผู้ปกครอง โดยให้ข้อมูลวัคซีนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สื่อสารกับผู้ปกครองและเด็ก เพื่อให้เด็กมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง 2.ช่วงรับวัคซีน ให้มีการจัดการความวิตกกังวลหรือความกลัวขณะฉีด โดยจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย เช่น ดนตรี กิจกรรมระหว่างรอ และ 3.หลังการฉีด ให้สื่อสารเรื่องการสังเกตอาการข้างเคียง และแนวทางการช่วยเหลือ ลดการตีตราจากการตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน ไม่ให้นำมาล้อเลียนกลั่นแกล้งกัน