นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคระเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ช่วงปี 51-53 การลงทุนในไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่นโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นระยะสั้น และระยะกลาง โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่ต้องการเอาใจประชาชนเพียงเพื่อหวังชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนโยบายระยะยาวเพื่อจะวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับระดับนานาชาติได้ และปัจจัยของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เพียงระยะสั้นซึ่งหากมีมากเกินไปจะไม่เป็นผลดีในระยะยาวกับเศรษฐกิจภาพรวม ขณะเดียวกันหากอัดฉีดเม็ดเงินมากเกินไปก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะเกิดการต่อต้านในวงกว้าง เป็นต้น
“เศรษฐกิจไทยในปี 51 ขยายตัว 4-4.5% ซึ่งไม่ต่างจากปี 50 และ 49 มากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือความมั่นใจของการลงทุนของต่างชาติเชื่อว่ายังต้องรอดูทิศทางของไทยอีก 2-3 ปี เพราะนโยบายส่วนใหญ่เป็นระยะสั้นซึ่งบางนโยบายไม่สามารถนำมาปฎิบัติได้ตามสัญญาไว้เพราะหากมาใช้จริงจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจ ขณะเดียวกันนักลงทุนก็ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่มีแนวโน้มในการยุติ" นายตีรณ กล่าว
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในปี 51 เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงค์ดีจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งจัดทำแผนนโยบายประชานิยมตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อสร้างความศรัทธาจากสาธารณชน และเอาใจฐานเสียง โดยการกระจายเม็ดเงินไปสู่ระดับรากหญ้าให้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี จนสามารถช่วยภาคการบริโภคได้ฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง และอาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับ 5% ตามที่หลายหน่วยงานได้ประเมินไว้ก่อนหน้า แม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้นก็ตาม
สำหรับงบประมาณที่ลงสู่ท้องถิ่นตามโครงการของพรรคการเมืองที่ได้เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลในปี 51 อาจมีมากถึงหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าโครงการส่วนหนึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาว
“ในปีนี้น้ำมันคงไม่กระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ 4-4.5% และตัวเลขเงินเฟ้อ 2-2.5% เพราะราคาเฉลี่ยที่ตลาดดูไบยังอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล แต่ปี 51 ยังไม่แน่ต้องรอดูการประเมินอีกครั้งวันที่ 3 ธ.ค. 50 เบื้องต้นราคาน้ำมันและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจต่อไป อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าเม็ดเงินจากนโยบายที่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลได้หาเสียงไว้คงลงสู่ชาวบ้านได้มาก ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการบริโภคมากขึ้น"
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/กษมาพร/จำเนียร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: jumnain@infoquest.co.th--