พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่นว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 0.50-1.10 เมตร แต่มีแนวโน้มลดลงวันละ 12 ซม. โดยคาดว่าน้ำที่หลากบริเวณหน้าเขื่อนมหาสารคาม อำเภอโกสุมพิสัย และท่วมทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำชี อำเภอเมืองขอนแก่น ประมาณ 10-15 วัน จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวขัองเร่งให้การช่วยเหลือพร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเข้าดำเนินการให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายโดยเร็ว ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 55 เครื่อง เรือ 5 ลำ รถยนต์ 8 คัน และเครื่องผลักดันน้ำ 40 คัน
พร้อมกันนี้ได้ให้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น และสทนช. เป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น โดยเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำชี และให้สทนช. รวบรวมเสนอ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบต่อไป สำหรับโครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้วขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งเน้นย้ำทุกภารกิจด้านน้ำต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดขยายผลการแก้ไขปัญหาด้านน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตามลำน้ำชี ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม โดยขณะนี้มวลน้ำกำลังเข้าสู่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานีตามลำดับ ซึ่งกอนช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 64 เพื่อเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าและสามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่" ที่สลายตัวเป็นดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. 64 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม, ชัยภูมิ, ยโสธร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งกอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่ง และการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ ล่วงหน้ารวม 4 ฉบับ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการป้องกันผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และทรัพย์สินจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย เช่น จัดจราจรน้ำให้มาไหลรวมกันน้อยที่สุด บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน รวมถึงปรับลดการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จากวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. และล่าสุดระบายเหลือประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานปัจจุบันคงเหลือพื้นที่น้ำท่วม 22 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ, อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี, 9 อำเภอ ใน จังหวัดขอนแก่น และ 10 อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ได้เร่งรัดผลักดันแผนงาน และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 61-64 มีการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นรวม 2,070 แห่ง พื้นที่ได้รับการป้องกันกว่า 4.6 แสนไร่ เช่น ประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ แก้มลิงแก่งน้ำต้อน แก้มลิงหนองโป่งขี้กั่ว เป็นต้น
ขณที่ในปี 65 มีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามงบบูรณาการอีก 40 แห่ง ปริมาณน้ำ 3.62 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 13,589 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,475 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 963 ไร่ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนบ้านไผ่ แก้มลิงกุดหมากเท้งพร้อมอาคารประกอบ ฝายห้วยสายบาตร และอนุรักษ์ฟื้นฟูห้วยโพงพร้อมระบบกระจายน้ำ เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังได้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการสำคัญอีก 13 โครงการที่เน้นเพิ่มการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน และการป้องกันน้ำท่วมเพื่อป้องกันชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 66-68 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 36.4 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 35,181 ไร่ และ 9,344 ครัวเรือน เช่น การขุดลอกแม่น้ำชี ระยะทาง 215 กม. อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ระยะที่ 2 แก้มลิงหนองเอียด และแก้มลิงหนองแปน เป็นต้น