กทม.เดินหน้าพัฒนาระบบระบายน้ำ รองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างตรงจุด

ข่าวทั่วไป Monday October 18, 2021 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กทม.เดินหน้าพัฒนาระบบระบายน้ำ รองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างตรงจุด

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบระบายน้ำ และเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ว่า ในปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 329 แห่ง จากการพัฒนาระบบดังกล่าว ส่งผลทำให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากสถิติเวลาของการเกิดปัญหาน้ำท่วม เวลาการแก้ไข ความถี่ของการเกิดปัญหา รวมถึงจุดอ่อนน้ำท่วมที่ลดลงในทุกปี ตลอดจนในบางพื้นที่สามารถรองรับปริมาณฝนได้มากกว่าเมื่อก่อนที่ยังไม่พัฒนาระบบอย่างเช่นปัจจุบัน

กทม.เดินหน้าพัฒนาระบบระบายน้ำ รองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างตรงจุด

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นระบบการควบคุมเครื่องสูบน้ำระยะไกล ระบบ SCADA ระบบเรดาร์ตรวจจับกลุ่มฝน รวมถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์เพิ่มเติมตามสถานีสูบน้ำที่สำคัญ รองรับสถานการณ์ไฟฟ้าดับ เพื่อที่จะเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม

ส่วนระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อลดระยะเวลาการระบายน้ำในคลองสายหลักที่อยู่พื้นที่ชั้นในออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยตรง ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยปัจจุบันมีแผนที่จะพัฒนาก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก จำนวน 6 แห่ง โดยเป็นฝั่งพระนคร 4 แห่ง และฝั่งธนบุรี 2 แห่ง รวมถึงได้มีการพัฒนาแก้มลิงใต้ดิน ซึ่งเหมาะสมกับความเป็นเมืองหนาแน่นของกรุงเทพมหานคร โดยในระยะแรกได้เร่งดำเนินการในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 4 แห่ง ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ บริเวณวงเวียนบางเขน และบริเวณปากซอยสุทธิพร 2 และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง คือบริเวณสวนสาธารณะถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต ความจุ 10,000 ลบ.ม. และบริเวณแยกถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา ความจุ 10,000 ลบ.ม. ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ อีกทั้งยังมีแผนที่จะดำเนินการในอีกหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้มีการประสานความร่วมมือ และการประชุมร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้านครหลวง กรมทางหลวง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดปริมณฑล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ