ตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด และตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนล แห่งประเทศไทย จำนวนหนึ่งได้เดินเท้ามาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีขออนุมัติงบกลางเยียวยาลูกจ้าง หลังจากผู้ประกอบการหลบหนีไป
พร้อมกันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทวงถามถึงความคืบหน้าการออกหมายจับดำเนินคดีกับนายจ้าง และขอให้ติดตามยึดทรัพย์บริษัทแม่ที่อำพรางการโยกย้ายทรัพย์สินก่อนลอยแพพนักงาน พร้อมยืนยันว่า การเดินทางมาในวันนี้ไม่ใช่มากรรโชกทรัพย์รัฐบาล แต่มาเรียกร้องตามสิทธิ ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยภายหลังการเจรจากับทางตัวแทนผู้ชุมนุมว่า ข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมขอให้นำงบกลางมาเยียวยา ทดแทนเงินชดเชยกว่า 242 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่ตรงตามระเบียบของการใช้งบกลาง
สำหรับผลการหารือได้ข้อสรุป 3 ข้อคือ
1.ได้มีการออกหมายจับนายจ้างแล้ว และเป็นหน้าที่ของตำรวจเร่งรัดและติดตามความคืบหน้า พร้อมกับพิทักษ์ทรัพย์บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด โดยในวันที่ 23 พ.ย.กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานจะขึ้นศาลครั้งแรก
2. ในวันที่ 28 ต.ค.นี้จะมีการประชุมกองทุน โดยจะมีการเชิญตัวแทนสหภาพแรงงานมาหารือแนวทาง เป็นการประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้างและข้าราชการ โดยก่อนที่จะประชุมในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ตนเองจะหารือกับกรมสรรพากร เพื่อให้ทราบถึงความคืบหน้าในเรื่องข้อกฎหมายว่าจะสามารถนำเงินคืนภาษี 31 ล้านบาทของบริษัทดังกล่าวมาชดเชยเยียวยาได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของกระทรวงต่อกระทรวง ที่จะต้องมีการพูดคุยกันก่อนตามข้อกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถ้าทำได้ไม่ผิดกฎหมายก็ยินดีที่จะช่วยแรงงาน ถ้าทำแล้วผิดกฎหมายไปเปลี่ยนบรรทัดฐานของกฎหมายก็ไม่ควรทำ
3.ในระหว่างที่ยังตามจับนายจ้างไม่ได้และมีการค้างค่าจ้าง 242 ล้านบาท นั้น ไม่สามารถใช้งบกลางมาเยียวยาก่อนได้ จะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหารือว่าจะใช้ข้อกฎหมายใดในการเบิกจ่าย แต่จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและข้อกฎหมายของประเทศไทยว่าอะไรสามารถทำได้ ตนเองก็พร้อมที่จะช่วยทันที
ขณะที่นายวรรณรัตน์ ศรีสดใส อธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน กล่าวว่า ทางตัวแทนกลุ่มแรงงานได้เสนอให้กระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาล ได้หางบประมาณช่วยเข้าเยียวยาไปพรางก่อน เนื่องจากมองว่าการที่ผู้ประกอบการหลบหนีไปแล้ว ขณะเดียวกันเสนอแนวทางตั้งกองทุนคุ้มครองการเลิกจ้าง เพื่อป้องกันเกิดเหตุซ้ำในอนาคต