กทม. เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง ช่วง 20-30 ต.ค.

ข่าวทั่วไป Wednesday October 20, 2021 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือน 11 จังหวัดริมเจ้าพระยา-ท่าจีน เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวันที่ 20-30 ต.ค. 64 และเตรียมพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงว่า กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ประสานกรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำเหนือหลากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงจังหวัดปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรง และตรวจสอบหาจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 87.93 กิโลเมตร โดยเป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ความยาว 8.30 กิโลเมตร และเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ความยาว 79.63 กิโลเมตร โดยมีค่าระดับความสูงของแนวป้องกันน้ำท่วม ดังนี้

  • ช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานกรุงธนบุรี ความสูง +3.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.)
  • ช่วงสะพานกรุงธนบุรี ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความสูง +3.25 ม.รทก.
  • ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานพุทธฯ ความสูง +3.00 ม.รทก.
  • ช่วงสะพานพุทธฯ ถึงบางนา ความสูง +2.80 ม.รทก.
  • ริมคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความสูง +3.00 ม.รทก.

ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีแนวป้องกันฯ พื้นที่ลุ่มต่ำ และบริเวณที่คาดว่าระดับน้ำอาจจะเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ เช่น บริเวณทางขึ้นลงท่าเรือ หรือสะพานนั้น ได้มีการเรียงกระสอบทรายแล้วเสร็จ 76 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 17 เขต ความยาว 2,918 เมตร โดยความสูงของแนวกระสอบทรายที่เรียงแล้วอยู่ที่ระดับ +2.30 ม.รทก. ถึง +2.40 ม.รทก. ใช้กระสอบ 92,400 ใบ

ตลอดจนสำรองกระสอบทรายที่บรรจุแล้ว 11,000 ใบ สำรองกระสอบเปล่าที่พร้อมบรรจุทรายอีก 1,040,000 ใบ พร้อมจัดเตรียม Big Bag จำนวน 200 ใบ ตะกร้าใส่ทรายสำหรับเรียงกระสอบ 5,150 ใบ และพนังกั้นน้ำฉุกเฉิน 9 เส้น ความยาวเส้นละ 15 เมตร

นอกจากนั้น ยังได้ประสานสำนักงานเขตลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยการแจกจ่ายยารักษาโรค อาหาร และรับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงตรวจสอบสภาพพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้น สำหรับปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากการมีเรือวิ่งผ่านนั้น กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่า ให้ใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ