นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ ระบุคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่ได้มีมติให้ยุบบริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย(สธท.) ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว ซึ่งประสบภาวะขาดทุน 120 ล้านบาท เพราะจะมีปัญหาที่ยุ่งยากตามมาภายหลัง เช่น การชำระบัญชี รวมถึงขั้นตอนตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดหน้าที่จะดำเนินการต่อไป โดยเปิดช่องให้รัฐบาลใหม่สามารถรื้อฟื้นโครงการนี้ได้หากมีแนวทางในการพัฒนาที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากกว่านี้
"เป็นมติที่ต้องการยุติการดำเนินงานเท่านั้น ส่วนการยกเลิกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดหน้าจะเข้ามาพิจารณา ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดหน้าด้วย ในกรณีที่มีนโยบายต่อเนื่องและมีแนวทางที่ดีในการพัฒนาต่อไป แม้จะยุติโครงการนี้แต่รัฐบาลยังมีโครงการอื่นอีกมากที่จะส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ" นายไพบูลย์ กล่าว
สาเหตุที่รัฐบาลสั่งให้ยุติโครงการนี้เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่มาก และยังทำให้รัฐบาลขาดทุนด้วยเนื่องจากราคาโคเนื้อเป็นในตลาดมีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองชูนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคนั้น นายไพบูลย์ กล่าว่า สามารถที่จะทำได้หลายวิธี เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายโคเนื้อพื้นเมืองหรือโครงการโคไท เป็นต้น แต่การทำโครงการเอสพีวีเป็นเพียงหนึ่งวิธีเท่านั้น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมา สธท.ได้รับคืนโคจากเกษตรกรและนำไปจำหน่ายแล้วทั้งสิ้น 1.06 พันตัว คิดเป็นเงิน 13.57 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วสามารถจัดสรรผลตอบแทนให้เกษตรกร คือ โคพันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรได้รับผลตอบแทน 2.11 พันบาทต่อตัว, โคลูกผสมพันธุ์บราห์มัน เกษตรกรได้รับผลตอบแทน 9.56 พันบาทต่อตัว และโคลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ เกษตรกรได้รับผลตอบแทน 4.28 พันบาทต่อตัว
ส่วนโคที่อยู่ระหว่างเลี้ยงของเกษตรกรตามโครงการฯ จำนวน 1.78 หมื่นตัว สธท.ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างโคจำนวน 654 ตัว พร้อมประเมินมูลค่าที่คาดว่าขายได้ตามราคาตลาดในปัจจุบันและราคาหลังหักค่าใช้จ่าย ปรากฎว่าขาดทุนทุกกรณี คือ กรณีโคพันธุ์พื้นเมืองจะขาดทุน 415 บาทต่อตัว, โคลูกผสมพันธุ์บราห์มันจะขาดทุน 1.25 พันบาทต่อตัว และกรณีโคลูกผสมพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ จะขาดทุน 2.29 พันบาทต่อตัว
ขณะที่ตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ให้ความเห็นว่า สมควรยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และก่อให้เกิดภาระหนี้สินกับเกษตรกร แต่เนื่องจากภาระโครงการยังไม่สิ้นสุดจึงเห็นควรให้กรมปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส.เข้าไปดูแลเกษตรกรจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ รวมทั้งชี้แจงเกษตรกรให้เข้าใจถึงแผนงานในอนาคต เพื่อลดความวิตกกังวลของเกษตรกรที่ยังไม่ได้คืนโคให้กับโครงการ
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--