นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจอนามัยโพล จากความคิดเห็นของประชาชน 1,512 คน (ตั้งแต่วันที่ 14-25 ต.ค. 64) ในประเด็นความกังวลกับการเปิดเมือง เปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด พบว่า ประชาชน 92.40% มีความกังวลในการเปิดประเทศ ส่วนอีก 7.60% ไม่มีความกังวล
โดยเรื่องที่มีความกังวลมากที่สุด คือ เกิดการระบาดระลอกใหม่ 75.80% รองลงมา คือ มีความกังวลว่าประชาชนการ์ดตก และไม่ป้องกันตนเอง 49.70%, สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวไม่ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 45.10%, กลัวตนเองและครอบครัวจะติดเชื้อ 41%, มาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศอาจไม่ดีพอ 39.60%, กังวลว่าจะเกิดล็อกดาวน์อีกครั้ง 37.10%, จำนวนเตียงไม่เพียงพอ 31.70% และอื่นๆ เช่นเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพวัคซีน 2.10%
ในส่วนของสถานประกอบการ หรือกิจการที่มีความกังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ หลังจากเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. ในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด อันดับหนึ่ง คือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ 89.20% รองลงมา คือ ขนส่งสาธารณะ 43.10%, สถานที่ท่องเที่ยว 39.80%, สถานศึกษา 39.20%, ตลาด 37.40%, ห้างสรรพสินค้า 34.10%, ร้านอาหาร 28.80%, โรงแรม รีสอร์ท 24.00%, ร้านสะดวกซื้อ 17.90%, ศาสนสถาน 16.40% และอื่นๆ เช่น สถานที่ทำงาน โรงงาน ร้านนวด ฟิตเนส สนามกีฬา อีก 3.10% ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่มีความกังวลว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ มี 5.50%
ส่วนมาตรการที่จะทำให้เชื่อมั่นว่าจะปลอดภัยเมื่อต้องเปิดประเทศ อันดับแรก คือ เร่งฉีดวัดชีนให้ทุกคนทั่วประเทศครบ 2 เข็มครอบคลุมทุกจังหวัด 70% ขึ้นไป 72.53% รองลงมา คือ คุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 60.58%, กำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการ และประชาชนอย่างเคร่งครัด 55.10%, เร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวครม 2 เข็ม ครอบคลุม 70% ขึ้นไป 52.72%, สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ทุกคนในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ 49.41%, สถานประกอบการทุกแห่งผ่านมาตรฐานรับรองของกระทรวงสาธารณสุข 43.31%, ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ ท่องเที่ยวได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น 41.20% และมาตรการอื่นๆ เช่น Home Isolation, DMHTTA และการติดตามนักท่องเที่ยวที่เข้ามา และบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยเวลาเข้าที่ชุมชน 2.70%
สำหรับกรอบการดำเนินการเพื่อการประเมิน ติดตาม และเฝ้าระวัง ได้แก่
- Self Certification คือ ให้สถานประกอบการทุกแห่งลงทะเบียน และประเมินตนเองผ่านระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+) รับรองเป็น Covid Free Setting, พื้นที่ต้องจัดทำรายชื่อ (Name List) สถานประกอบการ, ให้ทุกสถานประกอบการติด E-Certificated ในจุดที่ผู้ใช้บริการเห็นชัดเจน และให้ทุกสถานประกอบการ เชิญชวนให้ผู้ใช้บริการประเมินสถานประกอบการ โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดบน E-Certificated
- People Voice คือให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ ให้ผู้รับบริการ และประชาชน ร้องเรียน แนะนำ ติชม สถานประกอบการในพื้นที่ COVID Free Area/Zone ผ่านช่องทางคิวอาร์โค้ดบน E-Certificated เว็บไซต์ TSC+ และเฟซบุ๊ก "ผู้พิทักษ์อนามัย (COVID Watch)"
- Active Inspection คือ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจ กำกับ COVID Free Area/Zone ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจะกำหนดพื้นที่เสี่ยง (Setting) เช่น ตลาด ร้านอาหาร สตรีทฟู้ด โรงแรม และสถานบันเทิง ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมตรวจกำกับติดตาม ตรวจประเมินสถานประกอบการทุก 2 สัปดาห์ ตามมาตรการ และพรบ.สาธารณสุข โดยจะมีบุคลากรจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ตลอดจนคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นๆ ลงพื้นที่ตรวจประเมิน
ในส่วนของการตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์นั้น จะเป็นการตรวจประเมินสถานประกอบการที่ลงทะเบียน และมีการปฎิบัติตามมาตรการ มีการประเมินตนเอง โดยการสุ่มตรวจประเมินดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่า 20% ของสถานประกอบการที่มีการลงทะเบียนทั้งหมด อย่างไรก็ดี กรณีที่ประชาชนมีการแจ้งเบาะแส ร้องเรียนสถานประกอบการที่ไม่ปฎิบัติตามมาตรการ ทีมงาน หรือคณะกรรมการของแต่ละพื้นที่ จะมีการตรวจสอบให้ครบ 100% นอกจากนี้จะต้องให้คำแนะนำ ตักเตือน กิจการที่ปฎิบัติไม่ถูกต้อง ให้ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข, พ.ร.บ.ควบคุมโรค, พ.ร.บ.สถานบริการ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
"บุคลากรที่จะปฎิบัติหน้าที่ตรวจสถานประกอบทุก 2 สัปดาห์นั้นมีเพียงพอ โดยในระดับจังหวัดมีคณะกรรมการ ระดับอำเภอมีทีมงานทั้งนายอำเภอ และส่วนราชการต่างๆ ในระดับตำบล มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในระดับชุมชน หรือหมู่บ้าน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทุกระดับมีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินการในหลายมาตรการ ต้องอาศัยความร่วมมือของสถานประกอบการ และประชาชนทุกคนด้วย หากมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในลักษณะกลุ่มก้อนได้" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ประชาชนทุกคนยังต้องปฎิบัติเข้มงวดตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด (Universal Prevention - UP) ทั้งนี้ จะมีการปรับมาตรการ UP ให้เหมาะสมกับกรณีของนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทาง เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ดังนี้
1. ประชาชนเลือกเดินทางไปสถานที่ที่มีสัญลักษณ์ CFS (Covid Free Setting) หรือ SHA+
2. ขอความร่วมมือประชาชน และสถานประกอบการ แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน หรือผลการตรวจเชื้อว่าไม่มีเชื้อก่อนเข้าสถานที่
3. ให้ประชาชนปฎิบัติตาม DMH คือ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตรในทุกสถานที่ หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่แออัด หรือระบายอากาศไม่ดี และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน นอกจากนี้ต้องสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งขณะออกนอกห้องพัก และอยู่ในที่พักร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งต้องล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
4. หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการ ควรงดออกจากที่พัก และตรวจ ATK ด้วยตนเอง หรือปรึกษาสถานพยาบาลใกล้เคียง