สธ. พร้อมคลายล็อกมากขึ้น หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลง-ฉีดวัคซีนตามเป้า

ข่าวทั่วไป Thursday October 28, 2021 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยการคาดการณ์ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการต่อเนื่อง เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ หลังการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. กรณีแรก หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดลดลง 25% เทียบกับก่อนล็อกดาวน์ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฎิบัติตาม 4 มาตรการ คือ 1.มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล Universal Prevention 2. มาตรการ COVID-Free Area, Zone และ Setting 3. มาตรการคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) และ 4. ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมายเดือนต.ค.-ธ.ค. 64 โดยหากสามารถปฎิบัติตาม 4 มาตรการได้ จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

กรณีที่สอง หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงประมาณ 15% เทียบกับก่อนล็อกดาวน์ ด้วยผลจากการคงมาตรการทั้งการปิดสถานที่เสี่ยงมาก งดดื่มสุราในร้านอาหาร จำกัดการรวมกลุ่ม จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่ระบาดลดลงได้บ้าง ทั้งนี้การฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามเป้าหมายเดือนต.ค.-ธ.ค. 64 ด้วย

ส่วนกรณีสุดท้าย การแพร่ระบาดกลับไปเท่ากับก่อนล็อกดาวน์ หรือสูงกว่า หากมีการผ่อนคลายมาตรการทั้งหมด และมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในเดือนต.ค.-ธ.ค. 64

"จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดเพียงอย่างเดียว ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่มีการรองรับที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ และออสเตรเลีย ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าประเทศไทย แต่ก็ยังสามารถเปิดประเทศได้ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งนี้หากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ก็อาจมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นได้" นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศไทยว่า ขณะนี้ภาพรวมสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 57% เข็มที่ 2 ครอบคลุม 40.9% และเข็มที่ 3 อยู่ที่ 3.1% ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 68.9% จำนวน 2,683,229 คน

สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ภาพรวมเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 77.7% เข็มที่ 2 ครอบคลุม 56.5% ส่วนจังหวัดที่ต้องจับตามองเนื่องจากมีการแพร่ระบาดหนักทั้งหมด 10 จังหวัด เช่น จังหวัดตาก ราชบุรี ปัตตานี และสงขลา ภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุมอยู่ที่ 50.6% เข็มที่ 2 อยู่ที่ 35% โดยในจังหวัดดังกล่าว จะมีการจัดสรรวัคซีนเพิ่มขึ้น และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แนะนำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนไฟเซอร์ประมาณ 6 เดือน หลังเข็มที่ 2 โดยจะจัดสรรให้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนัก และเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค สตรีมีครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ