รมว.สธ. สั่งเร่งคุมระบาดเชียงใหม่ มั่นใจระบบมีความพร้อมรองรับ

ข่าวทั่วไป Friday October 29, 2021 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ หลังมีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดวิกฤตเตียงสีแดงเต็ม 100% ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมเรื่องของการแพทย์มากกว่าหลายจังหวัด และได้มีการดำเนินการเร่งให้มีการแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด รีบเข้าไปควบคุมการระบาด เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

ส่วนจำเป็นจะต้องตั้งศบค.ส่วนหน้าหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งในต้นสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ไปดูสถานการณ์ เนื่องจากรายงานพบว่า การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในชนบทแต่เข้ามาค้าขายในเมือง ซึ่งก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหา แต่เชื่อมั่นว่าจังหวัดเชียงใหม่มีสถานพยาบาลที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ นายอนุทิน ย้ำว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบสถานการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะรีบแก้ไขให้ดีที่สุด ส่วนการล็อกดาวน์บางตำบลนั้น ถือเป็นการทำ Community Isolation ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะสั่งการในการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สวนสนุกดรีมเวิลด์ โพสต์ข้อความว่า พนักงานฉีดวัคซีนเต็มแขน แต่ยังไม่มีแผนเปิดให้บริการว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวต้องรอดูมาตรการที่จะออกมา เนื่องจากสวนน้ำเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องรอดูการกำหนดมาตรการออกมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการกำหนดมาตรการออกมาแล้วแต่ต้องกลับไปดูว่าจะปฏิบัติได้ครบหรือไม่ แต่วันนี้จะยังไม่มีเสนอเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.ชุดใหญ่) วันนี้ เนื่องจากเป็นการหารือในภาพรวมของประเทศ รวมถึงเรื่องผู้ที่จะเดินทางเข้ามาภายในประเทศ โดยกรมควบคุมโรคจะเสนอรายละเอียดเพื่อสร้างความชัดเจนให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมามีการซักซ้อมในหลายหน่วยงานแล้ว โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าตนเองเดินทางไปตรวจโรงแรมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวในส่วนของ SHA+ และ alternative quarantine ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบโรงแรมจะต้องจับคู่กับโรงพยาบาล ดังนั้นห้ามทางโรงพยาบาลเก็บค่าตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

พร้อมกันนี้นายสาธิต กล่าวถึง การพิจารณาพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ 17 จังหวัด (สีฟ้า) ว่า จากนี้จะพิจารณาความคงที่ของยอดผู้ติดเชื้อ และแนวโน้มว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น หากพื้นที่ใดยอดผู้ติดเชื้อคงที่หรือมีแนวโน้มลดลงก็จะปรับเพิ่มพื้นที่นำร่องขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ