พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรป(ASEAN-EU Commemorative Summit) ได้หยิบยกสถานการณ์ในประเทศพม่าขึ้นมาหารือร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นเพียงเรื่องภายในประเทศของพม่าเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่สังคมโลกควรจะรับรู้ด้วย
ทั้งนี้ พม่าไม่เห็นด้วยที่จะให้นายอิบบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านพม่า เข้าชี้แจงให้ที่ประชุม ASEAN-EU รับทราบว่านายกัมบารีได้พบเจออะไรบ้างในช่วงที่เดินทางไปพม่าครั้งล่าสุด แต่พม่าขอที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกันเองภายในประเทศและจะประสานงานกับ UN ต่อไป
พล.อ.สุรยุทธ์ เห็นว่า แนวทางที่เคยจะหารือร่วมกันระหว่าง ASEAN, จีน, อินเดีย และ UN ถึงการส่งเสริมประชาธิปไตยในพม่า อาจต้องยุติลง หลังจากพม่ารับจะนำเรื่องดังกล่าวไปพูดคุยกันเองในประเทศ
"ในเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องรับที่จะไปดำเนินการโดยตรง เราคงไม่สามารถไปบีบบังคับให้เขา(พม่า) ทำอะไรได้...และกลุ่มอาเซียนเองก็เคารพในการตัดสินใจของพม่า" นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่าง 19-22 พ.ย.ที่ผ่านมา
ด้าน นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์ในพม่า โดย EU ได้ประณามการใช้ความรุนแรงและการปราบปรามผู้ประท้วง พร้อมเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี รวมถึงนักโทษทางการเมืองของพม่าคนอื่นๆ
อย่างไรก็ดี EU ได้ให้การสนับสนุนบทบาทของ UN และต้องการเห็นความชัดเจนของการดำเนินการ โดยเสนอให้มีการจัดทำ roadmap เพื่อกำหนดขอบเขตระยะเวลา, ความชัดเจนของ roadmap และรวมถึงการพัฒนาการเมืองในพม่า ขณะที่อาเซียนสนับสนุนให้พม่าร่วมมือกับ UN และสนับสนุนบทบาทของนายกัมบารี รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงาน เช่น การพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานชีวภาพ รวมไปถึงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อียู ด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--