นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลห้องปฎิบัติการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ในผู้รับบริการในพื้นที่กทม. และ MOPH IC เดือน ก.ย. 64 พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 54% ในขณะที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 70% ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุที่กรุงเทพมหานคร สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
"ยืนยันว่าที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงไม่แตกต่างกับสูตรอื่นๆ รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูง และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว ส่วนสถานการณ์ของวัคซีนในประเทศ ขณะนี้วัคซีนซิโนแวคเหลืออยู่ประมาณ 2 ล้านโดส ซึ่งเหลือในปริมาณค่อนข้างน้อย จึงจะเริ่มมีการใช้สูตรการฉีดวัคซีนไขว้ ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 1 และไฟเซอร์เป็นเข็ม 2 มากขึ้น" นพ.โอภาส กล่าว
ในส่วนของแนวทางการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ตามข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 368 (ตามมติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 64) มีดังนี้
1. การฉีดวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็ม ใช้ระยะเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยตามเอกสารกำกับยาจากบริษัทโมเดอร์นา ระบุว่า สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
2. การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ หากฉีดวัคซีนเข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนโมเดอร์นา ระยะเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ ให้วัคซีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
3. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 เป็นวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนโมเดอร์นา ในระยะเวลาตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็ม 2 ทั้งนี้ ให้วัคซีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ส่วนกรณีฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนโมเดอร์นา ระยะเวลาหลัง 6 เดือนหลังเข็ม 2 โดยให้วัคซีนเว้นระยะห่างหลังเข็ม 2 เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกัน อย่างไรก็ตามสามารถฉีดวัคซีนก่อน 6 เดือน หลังเข็ม 2 ได้ โดยใช้ระยะห่าง และขนาดวัคซีนภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
นพ.โอภาส ได้กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 4 พ.ย. 64 สามารถฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว 60.3% เข็มที่ 2 ครอบคลุม 45.4% และเข็มที่ 3 ครอบคลุม 3.5%
สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องสีฟ้า มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุม 80.9% เข็มที่ 2 ครอบคลุม 62% โดยเดือน ธ.ค. 64 จะเพิ่มพื้นที่สีฟ้าอีก 18 จังหวัด จึงพร้อมเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในจังหวัดดังกล่าวให้ครอบคลุม
นพ.โอภาส กล่าวถึงผลการพิจารณาประเด็นเรื่องวัคซีน ตามข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 368 (ตามมติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 64) มีดังนี้
1. การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าในผิวหนัง (ID) มีมติแนะนำให้ใช้เฉพาะกรณีที่มีปริมาณวัคซีนจำกัด
2. แนวทางการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้
3. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม สามารถกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ระยะห่างประมาณ 6 เดือนขึ้นไป หลังเข็มที่ 2 ส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนโมเดอร์นาระยะห่างประมาณ 6 เดือนขึ้นไป หลังเข็มที่ 2 หรือภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
4. การให้วัคซีนกรณีแพ้วัคซีน หรือมีความจำเป็นอื่นๆ กรณีแพ้วัคซีนขอให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนตามเกณฑ์ในแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ กรณีการให้วัคซีนสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ ให้พิจารณาตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง