นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของงานวิจัย และการจัดสรรยารักษาโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ที่เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน สามารถช่วยต้านไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เพิ่มจำนวนในร่างกายได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ยาทั้งสองชนิดมีประสิทธิผลในการช่วยลดอาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดี
สำหรับแผนการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ กรมการแพทย์ ได้มีการหารือกับบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด (MSD) หรือบริษัทลูกของบริษัทเมอร์ค ทั้งเรื่องข้อมูลยา และการวิจัย ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 64, มีการหารือเรื่องการจัดหา และจัดซื้อช่วงเดือน ส.ค-ก.ย. 64, จัดทำสัญญาซื้อขายช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 64 โดยวันที่ 12 ต.ค. เสนอแผนการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) วันที่ 14 ต.ค. เสนอแผนต่อ ศบค. วันที่ 12-22 ต.ค. หารือกับอัยการสูงสุด และในเดือนพ.ย. จะเสนอแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะเดียวกัน ได้ประมาณการขึ้นทะเบียนองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้ในประเทศไทย และประมาณการขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ช่วงเดือนพ.ย.64-ต้นปี 65
ส่วนแผนการจัดหายาแพกซ์โลวิด กรมการแพทย์ ได้มีการหารือกับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ทั้งเรื่องข้อมูลยา และการวิจัย ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 64, มีการลงนาม CDA (รักษาความลับของข้อมูล) ช่วงเดือน ส.ค-ก.ย. 64, ศึกษาความก้าวหน้าของการวิจัย ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 64 และประมาณการขึ้นทะเบียนกับ FDA เดือน พ.ย. 64 โดยวันที่ 12 พ.ย. นี้ กรมการแพทย์จะมีการพูดคุยครั้งที่ 3 กับบริษัทไฟเซอร์อีกครั้ง
"ขณะนี้การดำเนินการของยาโมลนูพิราเวียร์ อยู่ที่สำนักงบประมาณ ขอกรอบวงเงินในการจัดซื้อ เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้สามารถนำยามาใช้ และจะทำการจัดซื้อเพื่อนำมาใช้ในประเทศไทยต่อไป ในขณะเดียวกันยาแพกซ์โลวิด เพิ่งมีการศึกษาเบื้องต้นออกมาเท่านั้น จึงจะมีการดำเนินการที่ช้ากว่า ทั้งนี้ ไม่สามารถตอบได้ว่าไทยอยู่ใน 90 ประเทศที่สั่งซื้อยาแพกซ์โลวิดล็อตแรกหรือไม่ เพราะการซื้อยาต้องมีการพูดคุยกัน วางแผนล่วงหน้า แต่จากไทม์ไลน์ของประเทศไทย มองว่าไทยอาจสามารถเข้าถึงยาได้ในระยะเวลารวดเร็ว" นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว
ด้านผลการศึกษาของยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการจำลองตัวเอง เพื่อให้ไวรัสไม่เพิ่มจำนวน จากข้อมูลวิเคราะห์เบื้องต้น (interim analysis) พบว่า จากการทดลองการใช้ยาทั้งหมด 775 คน แบ่งเป็นได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน โดยรับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 800 มก. วันละ 2 เวลา เป็นระยะเวลา 5 วัน (เม็ดละ 200 มก. จำนวนยา 40 เม็ด/คน) หลังจาก 29 วันที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา พบว่า สามารถลดความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ประมาณ 50%
ทั้งนี้ ไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ในขณะที่ผู้ที่ได้ยาหลอกเสียชีวิต 8 คน สรุปได้ว่า ผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ มีสัดส่วนในการนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต 7.3% ส่วนผู้ที่ได้ยาหลอกมีสัดส่วนในการนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต 14.1%
ด้านผลการศึกษาของยาแพกซ์โลวิด ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ เพื่อให้ไวรัสไม่เพิ่มจำนวน จากข้อมูลการศึกษาเบื้องต้น (Interim analysis) พบว่า ยาแพกซ์โลวิดจะมีประสิทธิภาพในการรักษาก็ต่อเมื่อใช้คู่กับยาริโทนาเวีย (Ritonavir) โดยจากการทดลองการใช้ยาทั้งหมด 774 คน แบ่งเป็นได้รับยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวีย 385 คน และยาหลอก 389 คน โดยรับประทานยาแพกซ์โลวิด (150 มก.) 2 เม็ด และยาริโทนาเวีย (100 มก.) 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ใช้ยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ด และยาริโทนาเวีย 10 เม็ด/คน) หลังจาก 28 วันที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา พบว่า สามารถลดความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ประมาณ 89% กรณีให้ยาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ และ 85% กรณีให้ยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
ทั้งนี้ ไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวีย ในขณะที่ผู้ที่ได้ยาหลอกเสียชีวิต 7 คน สรุปได้ว่า ผู้ที่ได้รับยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวีย มีสัดส่วนในการนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต 0.8% ส่วนผู้ที่ได้ยาหลอกมีสัดส่วนในการนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต 7.0%
"ในส่วนของราคายาทั้งสองชนิด ยาแพกซ์โลวิดคู่กับยาริโทนาเวีย ยังไม่มีการประกาศราคา ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ คาดว่าการขายยาในประเทศที่กำลังพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาแล้วน่าจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ถ้าสามารถนำยาทั้งสองชนิดมาใช้รักษาโควิดในไทยได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี" นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว