นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์โควิด-19 มาโดยตลอด และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในทุกด้าน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวานนี้ครอบคลุมประชากร 76.5% แล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม 7 แสนโดส เพื่อฉีดให้ครอบคลุมประชากร 100% ภายในต้นเดือนธันวาคม โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประโยชน์ของวัคซีน และตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด รวมถึงให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) ระวังตัวเองตลอดเวลา โดยที่ศูนย์ฉีดวัคซีน โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ณ โรงละครองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (สนามหน้าเมือง) ในวันนี้ได้ให้บริการฉีดวัคซีน 2,200 โดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 สำหรับเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี 350 โดส เข็มที่ 2 สำหรับประชาชนทั่วไป 1,350 โดส และบูสเตอร์เข็มที่ 3 จำนวน 500 โดส
นายอนุทิน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดนครศรีธรรมราชมีแนวการโน้มติดเชื้อเริ่มลดลง โดยเมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 394 ราย ขณะที่ระลอกเดือน เม.ย.64 พบผู้ติดเชื้อสะสม 34,087 ราย ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อจากครอบครัวและชุมชน 79.76% ตลาด 6.89 % ในเรือนจำ 5.11% โรงงาน 1.68% และกิจกรรมทางศาสนา 1.43%
โดยมีมาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ คือ การค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ โดยจัดทีม CDCU และ CCRT จากต่างอำเภอมาช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง, ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมาตรวจหาเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง, สนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด โรงงาน แคมป์คนงานก่อสร้าง แพปลา ระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA จะดำเนินการตรวจ ATK ให้กับพนักงานทุกสัปดาห์ รวมทั้งให้หน่วยงานราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่นปรับการทำงานในรูปแบบ New Normal ร้านค้าสถานประกอบการ ร่วมรณรงค์มาตรการ UP และ Covid Free Setting เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด
สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทุ่งท่าลาดขนาด 260 เตียง เป็นแห่งที่ 3 ของจังหวัด มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฉวางเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย รับผู้ติดเชื้อสะสม 915 ราย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกำลังรักษาอยู่ 199 ราย ส่วนใหญ่เข้ารักษาเป็นครอบครัว กรมสุขภาพจิตจึงได้สนับสนุนของเล่นเสริมพัฒนาการให้กับเด็กที่ติดเชื้อและกำลังรักษา เพื่อดูแลด้านจิตใจควบคู่กับการดูแลสุขภาพกาย