นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ และรองรับการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : ภาคกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ ของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้บริหารและคณะทำงาน ศปก.ศบค. ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานระดับพื้นที่ 25 จังหวัด ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก รวมถึงผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน
นายอนุทิน กล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดมานานกว่า 2 ปี สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่คงที่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลดลง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือเป็นนโยบายแห่งชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับคืนมาใกล้เคียงกับภาวะปกติอย่างสมดุลกับความมั่นคงทางสาธารณสุข และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศ รวมถึงผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน มุ่งตามกลยุทธ์ด้านสาธารณสุข 5 ข้อ คือ 1.การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย 2.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง/ สถานที่เสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง 3.การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.การพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารความเสี่ยง และ 5.การสร้างกลไกการบริหารจัดการแบบบรูณาการ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนรองรับนโยบายแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข สามารถ "เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดใจ เปิดประเทศด้วยความปลอดภัย" ภายใต้มาตรการ 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ก่อนเดินทาง ผู้เดินทางต้องเตรียมหลักฐานการฉีดวัคซีน/ประกันสุขภาพ วงเงินไม่น้อยกว่า 50,000 USD/ ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง/ หลักฐานการจองที่พัก/ บันทึกข้อมูลใน Thailand Pass และเมื่อมาถึงประเทศไทย ต้องตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ด้วยวิธี RT-PCR และครั้งที่ 2 ด้วยชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองเมื่อมีอาการ หรือในวันที่ 6-7
2. ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ด้วยวิธีที่แม่นยำ หากพบการติดเชื้อ ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที
3. ด้านมาตรการ COVID Free Setting สถานประกอบการต้องให้บริการบนพื้นฐานความปลอดภัย ตามแนวทางที่วางไว้
4. ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ปรับรูปแบบการรักษาเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล
5. ด้านการสำรองเวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง สามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดเวลา