ส่วนการจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่แบบอีเว้นต์ เช่น การจัดงานลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัย หรือที่จังหวัดเชียงใหม่เทศกาลลอยยี่เป็ง จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ กำกับดูแลการจัดงานในภาพรวมในพื้นที่
ซึ่งนอกจากผู้จัดงานจะต้องมาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องกำกับดูแลทั้งส่วนผู้ที่มาขอจัดงาน และผู้ที่ไม่ได้มาขอจัดงานในระดับเล็กด้วย โดยให้ยึดถือแนวทางและมาตรการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันและศบค.เห็นชอบ ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกจังหวัดไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) หรือพื้นที่ควบคุม (สีแดง) หรือพื้นที่อื่นๆสามารถจัดได้ทุกพื้นที่ ซึ่งในวันที่ 12 พ.ย. จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณามาตรการที่ประชุมศบค.ได้ออกไปก่อนหน้านี้
สำหรับการรายงานการติดเชื้อในคลัสเตอร์ต่างๆ พญ.สุมนี กล่าวว่า ยังคงพบการระบาดที่โรงงานและสถานประกอบการ ทั้งจากกรุงเทพมหานคร 78 ราย เพชรบุรี 42 ราย ปราจีนบุรี 21 ราย ราชบุรี 18 ราย เชียงใหม่ 8 ราย สระแก้ว 3 ราย และสุราษฎร์ธานี 3 ราย
และยังพบคลัสเตอร์ในตลาด ที่กรุงเทพมหานคร 310 ราย เชียงใหม่ 53 ราย ชลบุรี 29 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 13 ราย สระแก้ว 11 ราย กาญจนบุรี 5 ราย และที่จังหวัดอื่นๆ เช่น สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ นครสวรรค์และขอนแก่น
ส่วนคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา จากงานบวชและงานทอดกฐิน พบที่ยโสธร 4 รายและร้อยเอ็ด 2 ราย และพบในคลัสเตอร์งานศพ พะเยา 35 ราย สระแก้ว 6 ราย เชียงใหม่ 5 ราย ขอนแก่น 3 ราย และสุราษฎร์ธานี 2 ราย
ทั้งนี้ แคมป์คนงานก่อสร้างที่เชียงใหม่ 12 ราย สุราษฎร์ธานี 8 ราย ลำพูน 6 ราย อุทัยธานี 5 ราย ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี ส่วนคลัสเตอร์ในเรือนจำ พบที่นครราชสีมามากที่สุด 161 ราย กรุงเทพมหานคร 92 ราย รวมถึง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี