ตร.ประชุมร่วมรัฐ-เอกชนเร่งแก้ปัญหาขับรถฝ่าฝืนกม.ดีเดย์กวดขันเข้ม 15 พ.ย.

ข่าวทั่วไป Wednesday November 10, 2021 18:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร., นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, น.ส.ณัฎกร โอภาสทิพากร นักวิชาการขนส่งชำนาญการ กรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลงผลการประชุมการบูรณาการความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน อันเกิดจากการกระทำผิดของผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้การประชุมยังได้เชิญบริษัทที่ให้บริการขนส่งอาหารสิ่งของ และเครือข่ายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน เข้าร่วมประชุมหารือใช้เวลาการประชุม 1 ชั่วโมง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อกำหนดมติการบูรณาการความร่วมมือกัน โดยใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตร.จะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มรถ จยย.ที่กระทำผิด ในพื้นที่เขตเมือง เขตชุมชน หรือเขตสถานศึกษา อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ได้กำหนดมติการบูรณาการความร่วมมือกันโดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

1. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตร.จะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มรถ จยย.ที่กระทำผิด ในพื้นที่เขตเมือง เขตชุมชน หรือเขตสถานศึกษา อย่างเข้มงวด ในข้อหา ขับรถย้อนศร (ปรับไม่เกิน 500 บาท) ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ปรับไม่เกิน 1,000 บาท) ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า (ปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ 400 -1,000 บาท และปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ไม่เกิน 5,000 บาท) รวมถึงการขับรถปาดซ้ายปาดขวา ซึ่งเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว (ปรับ 400-1,000 บาท)

ทั้งนี้ นอกจากการออกใบสั่งตามปกติแล้ว หากพฤติการณ์การกระทำผิดข้างต้นดังกล่าวมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหา "ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น" ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 ? 10,000 บาท โดยจะต้องมีการสอบสวนดำเนินคดีและยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล ยึดรถใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางในคดีและมีคำร้องขอให้ศาลริบเป็นของแผ่นดิน

เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการตรวจจับการกระทำผิด 5 วิธี ดังนี้ 1.ตรวจพบการกระทำผิดซึ่งหน้าในขณะอำนวยความสะดวกการจราจร 2.การใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจในพื้นที่จุดเสี่ยงที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 3. การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 4. การใช้กล้องตรวจจับความผิด 5. การรับข้อมูลจากประชาชน ที่บันทึกเหตุการณ์การกระทำผิดดังกล่าว

2.ความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการกำกับติดตามผู้กระทำผิดกฎหมาย เช่น กทม.ได้ร่วมบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการขับรถบนทางเท้า ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535, กรมการขนส่งทางบก ร่วมบูรณาการกำกับดูแล การจัดตั้งวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ และการขอจดทะเบียนขึ้นทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ หากกระทำความผิดตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว

ส่วนบริษัทที่ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าและอาหารเดลิเวอรี ร่วมบูรณาการใช้มาตรการองค์กร กำกับดูแลผู้ขับขี่ในสังกัดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดย ตร.ประสานข้อมูลประวัติการกระทำผิด ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้บริษัทคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎจราจร และบริษัทฯ จะเพิ่มหมายเลขพนักงานหลังเสื้อบริษัท

3.มีช่องทางให้ประชาชน ส่งคลิปกล้องหน้ารถ ที่บันทึกภาพเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายจราจร และมีพฤติการณ์การขับขี่ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามดำเนินคดีกับผู้ขับขี่มาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ สวพ.91 จส.100 และภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเป็น "อาสาตาจราจร" หากพบการกระทำผิดและมีคลิปบันทึกเหตุการณ์สามารถส่งคลิปมาได้ในช่องทางที่กำหนด ได้แก่ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร., จส.100, สวพ.91, มูลนิธิเมาไม่ขับ โดยคณะทำงาน ศจร.ตร. จะตรวจสอบข้อมูลจากคลิปของประชาชน หากพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย จะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ นอกจากนี้มูลนิธิเมาไม่ขับ จะมีการมอบรางวัลให้กับเจ้าของคลิป ทุกเดือนๆ ละ 10 รางวัล รวมเป็นเงิน 50,000 บาท

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะเริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.64 เพื่อมุ่งหมายในการสร้างวินัยการขับขี่ ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ประชาชนสามารถใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย โดยมีตัวอย่างการดำเนินคดีตามมาตรการดังกล่าวจากกล้องหน้ารถที่บันทึกการกระทำผิดของรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงในพื้นที่ สน.พหลโยธิน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เชิญตัวผู้ขับขี่ที่กระทำผิดมาแจ้งข้อหา "ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร" และ "ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยฯ" ซึ่งจะนำตัวส่งฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือต่อไป

ด้าน นายสกลธี กล่าวว่า ทางกรุงเทพมหานครได้กวดขันการฝ่าฝืนขับขี่รถจยย.จอดบนทางเท้าอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือน ก.ค.61-ปัจจุบัน ได้จำนวน 40,000 ราย เป็นเงินเข้าราชการ 44 ล้านบาท ส่วนใหญ่จับเป็นการจับซึ่งหน้าโดยเจ้าหน้าที่ ทั้งการตั้งจุดตรวจ และชุดเคลื่อนที่เร็วของแต่ละสำนักงานเขต

ส่วนการดำเนินการปรับตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปรับในข้อหาดังกล่าวได้ไม่เกิน 5,000 บาท แต่เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครที่จะปรับจำนวน 2,000 บาทในทุกกรณี อีกส่วนหนึ่งที่ให้ประชาชนได้แจ้งเบาะแสเข้ามาด้วยตั้งแต่กวดขันมามีผู้แจ้งแล้วทั้งสิ้น 160,000 ราย ปรับไปแล้ว 77,000 เรื่อง ในกรณีไม่สามารถติดตามตัวได้ก็จะส่งดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน 38,000 เรื่อง ส่วนเงินค่าปรับทั้งสิ้นที่มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา ทางกรุงเทพมหานครจ่ายไปแล้ว 2,600,000 บาท ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80 มีสถิติผู้เสียชีวิต เดือนพ.ย. จำนวน 358 คน ตั้งแต่ม.ค.-ปัจจุบัน 10,926 คน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปีเสียชีวิตแล้ว 686 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ