นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า การประชุมวันนี้จะมีการเสนอให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินไปได้ทั้งคนไทยและต่างชาติจะได้ร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่ได้อย่างเต็มที่
แต่สำหรับสถานบันเทิงคงจะต้องรอไปเป็นหลักจากเทศกาลปีใหม่จึงจะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ เพราะหากให้เปิดตอนนี้เกรงว่าจะไม่ได้มีการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กัน จึงขอให้มีการตรวจสถานที่ให้เรียบร้อยก่อน เนื่องจากการเว้นระยะห่างภายในสถานบันเทิงค่อนข้างยาก และเมื่อดื่มสุราก็ต้องเสียงดัง พูดคุย และร้องเพลง ซึ่งหากมีการถ่ายเทอากาศเหมือนภายในเครื่องบินก็จะช่วยให้มีโอกาสติดเชื้อน้อยได้ จึงจะต้องให้กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหารนคร (กทม.) ไปเตรียมมาตรการต่าง ๆ ก่อน
"เรามีบทเรียนมาแล้วจาก 2 คลัสเตอร์ใหญ่จากสถานบันเทิง ขอให้ประชาชนใจเย็นๆ แต่ได้เปิดแน่นอน ซึ่งการเตรียมสถานที่จะต้องได้รับมาตรฐาน SHA พลัส ก่อนจะเปิดเพื่อให้ทุกคนความปลอดภัย"นพ.อุดม กล่าว
นอกจากนั้น ขณะนี้ยังมีคลัสเตอร์งานกฐินและงานศพเกิดขึ้นทุกวันในหลายจังหวัด เช่นเดียวกับงานลอยกระทงที่จะมาถึง ก็เป็นการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก แม้จะเข้าใจว่าทุกคนอยากจะเข้าร่วมงานรื่นเริง ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีมาตรการห้าม แต่ขอให้ช่วยกันระมัดระวังตัวเองด้วย
นพ.อุดม ยอมรับว่า กังวลสถิติการติดเชื้อรายใหม่ที่ยังอยู่ในระดับ 6,000-7,000 คน/วัน โดยเฉพาะใน กทม.อยู่ที่ 700-800 คน ยังไม่ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจจะกลับมาพุ่งขึ้นอีกได้ จึงขอฝากประชาชนและผู้ประกอบการช่วยดูแลตามมาตรการครอบจักรวาลของสาธารณสุข รวมถึงลูกค้าและผู้ใช้บริการด้วยสงสัยว่ามีความเสี่ยงหรือมีอาการให้รีบตรวจ ATK จะได้แยกตัวไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อได้
ส่วนข้อเสนอลดขั้นตอนการตรวจคัดกรองโควิดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย จาก RT-PCR มาเป็น ATK เนื่องจากจะทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นนั้น นพ.อุดม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังศึกษาการใช้เครื่องเครื่องตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 จากตัวอย่างน้ำลาย แบบของญี่ปุ่นที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งจะรู้ผลภายในครึ่งชั่วโมง ซึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้สั่งซื้อเครื่องดังกล่าวมาแล้ว 4 เครื่อง ได้ผล 98-99% ได้ผลเร็วกว่าและราคาถูกกว่า ที่ 550 บาท ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณานำเข้าเครื่องนี้มาใช้ตรวจผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทั้งคนไทยและต่างชาติ
นพ.อุดม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้เมื่อดูตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจ หรือตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ซึ่งการฉีดวัคซีนจะเป็นตัวช่วยได้ และตามแผนการฉีดวัคซีนที่ 70% ของจำนวนประชากร อยู่ที่ 70 ล้านคน แต่เป้าหมายต้องการที่ 100 ล้านโดส เดิมประกาศแผนไว้ว่าจะให้ครบ 100 ล้านโดสสิ้นเดือนธันวาคม แต่ตอนนี้จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนนี้ให้ได้ โดยขณะนี้เข็มที่ 1 ยอดการฉีดยังเหลืออีก 5.2 ล้านคนจะครบ