กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในไทย หลังพบการระบาดที่ญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Friday November 12, 2021 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ เตรียมความพร้อมป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทย หลังพบรายงานของกระทรวงเกษตรญี่ปุ่นวันที่ 10 พ.ย. 64 แถลงยืนยันผ่านเว็บไซต์ว่า พบไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงเป็นครั้งแรกในฤดูหนาวปีนี้ ในฟาร์มสัตว์ปีกในเมืองโยโกเตะ จังหวัดอากิตะ และได้ทำลายไก่ไข่ไปแล้วกว่า 143,000 ตัว อย่างไรก็ดี ยืนยันการพบไข้หวัดนกรอบนี้ยังไม่ระบาดสู่คน

ในขณะเดียวกัน องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในต่างประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ม.ค. 64 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีการระบาดมากถึง 4,122 จุด รวมถึงพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบในสายพันธุ์ H5N1 H5N6 และ H5N8 ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ระดับภูมิคุ้มกันต่ำมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 12 ปี แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังคงเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก

ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงในระบบฟาร์มให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรณรงค์ทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ได้แก่ พื้นที่นกอพยพอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่นเป็นต้น ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

"ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว