น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี โดยเฉพาะปี 64 ที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเพียง 67-68 บาทต่อกิโลกรัม สวนทางกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงถึง 78-80 บาทต่อกิโลกรัม ตามการประเมินของคณะอนุกรรมการต้นทุนของ Pig Board โดยเฉพาะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ราคาสุกรตกต่ำอย่างมากในเดือนมี.ค.-เม.ย. ซึ่งสุกรมีชีวิตราคาเคยลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 56 บาทต่อกิโลกรัม
ในขณะที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลัก ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาสูงถึง 10-11 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลืองราคาล่าสุดสูงกว่า 19.80 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสต็อกผู้ผลิตในต่างประเทศลดลง โดยต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวคิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 20-30% ตั้งแต่ต้นปี 64
นอกจากนี้ เกษตรกรยังเผชิญกับโรคเพิร์ส (PRRS) ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยง ส่งผลให้แม่พันธุ์เสียหายกว่า 300,000 ตัว สูญเสียสุกรขุนมากถึง 30% ประกอบกับเกษตรกรต้องมีค่าบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคระบาดในสุกร ด้วยการทำระบบ Biosecurity เพิ่มขึ้นอีก 300-400 บาทต่อตัว ทำให้เกษตรกรเกิดความกังวลต่อสถานการณ์โรค และต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงตัดสินใจลดความเสี่ยงด้วยการหยุดเลี้ยง เข้าเลี้ยงช้าลง หรือเข้าเลี้ยงน้อยลงไม่เต็มกำลังการผลิต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการเลี้ยงสุกรในระบบเหลืออยู่เพียง 15.86 ล้านตัว ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 30%
น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เกษตรกรต้องทนขาดทุนมา 7-8 เดือน ขายหมูราคาตกต่ำ 60-70 บาทมาตลอด แต่ไม่มีใครเหลียวแล วันนี้ยังต้องวิตกต่อสถานการณ์โรคในหมู และโรคโควิด-19 ซ้ำยังมีปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ กว่าจะพลิกฟื้นฟาร์มให้กลับมาเลี้ยงหมูได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังพาเหรดขึ้นราคาไม่หยุด
ด้านความต้องการบริโภคก็ลดลงจากเดิม 22 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือเพียง 16 กิโลกรัม/คน/ปี คิดเป็นปริมาณหมูขุน 5 ล้านตัว หรือลดลงถึง 38% กลายเป็นความกดดันที่มีต่อผู้เลี้ยง จนต้องตัดสินใจชะลอการเลี้ยงเพราะไม่กล้าเสี่ยง
"ราคาหมูเพิ่งจะได้ฟื้นแค่เดือนเดียว ตามกลไกตลาด และเพียงแค่ช่วยต่อลมหายใจคนเลี้ยงเท่านั้น เกษตรกรทุกคนจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายเห็นใจและเข้าใจปัญหา "เพราะคนเลี้ยงหมูมีอาชีพเดียว" ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ แต่ผู้บริโภคยังมีทางเลือก ทั้งเนื้อไก่ ไข่ไก่ หรือปลา ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดีเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร สู้วิกฤตโควิด และวิกฤตอาชีพไปพร้อมๆ กัน" น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว