นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาได้ประกาศให้พื้นที่สีฟ้า หรือพื้นที่นำร่องบางแห่ง สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ จากผลการสำรวจอนามัยโพล เมื่อวันที่ 1-14 พ.ย. 64 จำนวน 2,823 คน ประเด็น "คิดเห็นอย่างไร กับการปรับมาตรการให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้" พบว่า 56.8% ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า มีความกังวลว่าจะเกิดการระบาด หรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ 86.6% ,รองลงมา ไม่มั่นใจในมาตรการป้องกัน 56.3% และจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่ 53.8% ตามลำดับ
ขณะที่ 43.2% เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ 86.6% รองลงมามองว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้พนักงาน และเจ้าของร้าน 61.4% และได้มีการพบปะสังสรรค์ 29.0% ตามลำดับ
สำหรับความเชื่อมั่นต่อมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของร้านอาหารที่เปิดให้บริโภคแอลกอฮอล์ พบว่า 56.6% ไม่มีความเชื่อมั่น และ 44.4% มีความเชื่อมั่น สำหรับร้านอาหารที่เปิดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ประชาชนมองงว่าควรมีมาตรการป้องกันโควิด ดังนี้ 70.7% ร้านอาหารต้องผ่านการรับรองของสธ. และแสดงป้ายรับรองให้เห็นชัดเจน เช่น Covid Free Setting, Thai Stop COVID Plus หรือ SHA เป็นต้น รองลงมา 68.9% พนักงานต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK) เป็นลบ และผลการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส และ 65.7% ลูกค้าต้องแสดงผลการตรวจ RT-PCR หรือ ATK เป็นลบ และผลการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ก่อนเข้าร้าน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงหลังเปิดให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร พบว่า ในร้านอาหารที่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น จากปัจจัย ดังนี้ 1. Carrier มีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 1 คนขึ้นไป ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานที่ 2. Long Stay ผู้บริโภคอยู่ในร้านอาหารเป็นเวลานาน ซึ่งถ้ามากกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไปถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และ 3. Behavior การพูดคุยสังสรรค์ กินดื่มร่วมกัน
ทั้งนี้ ร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม (เฉพาะที่จำหน่าย และให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน) จากระบบ Thai Stop COVID 2 Plus ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. -14 พ.ย. 64 พบว่ามีกิจกรรมเสี่ยง 3 ประการที่ยังพบบ่อยในร้านอาหารและเครื่องดื่ม คือ 1. มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย และกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ หรือสถานบันเทิง 2. มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และ 3. มีกิจกรรมเต้นรำ ตะโกนเสียงดัง ของพนักงาน หรือผู้รับบริการ
ด้านนพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมอนามัย ลงพื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานครวันที่ 10 - 15 พ.ย. 64 พื้นที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร สุ่มประเมินสถานประกอบกิจการร้านอาหารที่เปิดให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน พบไม่ปฏิบัติตามมาตรการฯ จำนวน 3 ร้าน โดยมีการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 34(6) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่สั่งห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยปล่อยปละละเลย ให้ผู้ใช้บริการแออัดไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิด การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19
การฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นความผิดตามมาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อัตราเปรียบเทียบคดีครั้งที่ 1 ปรับ 6,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 1,200 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไปปรับ 20,000 บาท ในส่วนของประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ และมีการสังสรรค์ยังไม่มีมาตรการลงโทษ อย่างไรก็ดี ประชาชนควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และปฎิบัติตามมาตรการ UP อยู่เสมอ